นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บมจ.ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอกระทรวงพลังงานขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ(NGV)จาก 8.50 บาท/ก.ก. เป็น 11 บาท /ก.ก. จากเดิมที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)มีมติให้เพิ่มเพดานไม่เกิน 12 บาท/ ก.ก.ในปี 52 โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.52 เป็นต้นไป
การปรับขึ้นราคา NGV แม้จะสวนทางกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในขณะนี้ แต่ต้นทุนทั้งระบบการจำหน่ายก๊าซ NGV อยู่ในระดับสูง โดยต้นทุน NGV ที่แท้จริงอยู่ที่ 14.50 บาท/ก.ก. ซึ่งมติ กพช. เดิมกำหนดให้ราคาก๊าซ NGV ปรับขึ้นได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันดีเซล ดังนั้น การปรับขึ้น NGV เป็น 11 บาท/ ก.ก.จึงถือว่าเหมาะสม
ตั้งแต่ ปตท.จำหน่ายก๊าซ NGV มีปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด โดยปี 51 รับภาระขาดทุน 3,700 ล้านบาท จากปี 50 ที่มีผลขาดทุน 1,900 ล้านบาท และปี 49 ขาดทุน 1,200 ล้านบาท ปตท.จึงอยู่ระหว่างการทบทวนแผนลงทุนเกี่ยวกับ NGV ทั้งหมด หลังจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ลดต่ำมาก ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซ NGV ลดลง โดยปัจจุบันยอดการติดตั้ง NGV ของรถยนต์อยู่ที่ 150-200 คัน/วัน จากเดิมที่ราคาน้ำมันอยู่ระดับสูงกว่าลิตรละ 40 บาท ยอดการติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 450-500 คัน/วัน
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้การเปิดสถานีจำหน่ายก๊าซ NGV ยังเป็นไปตามแผนเดิม คือ 300 แห่ง จากมีอยู่ 275 แห่ง ครอบคลุม 44 จังหวัด ส่วนปริมาณความต้องการใช้ NGV อยู่ที่ 2,800-2,900 ตัน/วัน ปริมาณการจำหน่ายมีกว่า 3,000 ตัน/วัน
นายณัฐชาติ กล่าวถึงแผนการก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติว่า คงต้องชะลอออกไป เพราะขณะนี้ความต้องการใช้พลังงานชะลอตัวลง โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ กระทรวงพลังงานได้ประกาศชะลอออกไป 1 ปี ดังนั้น การก่อสร้างท่อก๊าซจึงไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการอีกต่อไป
โครงการก่อสร้างท่อก๊าซ ปตท.มี 3 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ตามแผนเดิมคือ 1.เส้นสายใต้ราชบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 22,000 ล้านบาท กำหนดเดิมจะก่อสร้างเสร็จในปี 54 เส้นทาง 2. ท่อสายอีสาน สระบุรี-โคราช วงเงิน 16,000 ล้านบาท เดิมจะแล้วเสร็จปี 53 และ 3.สายเหนือ พระนครศรีอยุธยา-นครสวรรค์ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ตามแผนเดิมจะเสร็จปี 54