UNIQ คาดปี 52 รายได้-กำไรฟื้น จาก backlog โตพรวดหลังได้งานสายสีแดง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 17, 2008 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(UNIQ) คาดกำไรสุทธิในปี 51 ต่ำกว่าปี 50 เหตุยอดรับรู้รายได้ลดลงเหลืออยู่ 2 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มี 2.75 พันล้านบาท แต่คาดในปี 52 จะฟื้นกลับมาหลังได้งานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 8.75 พันล้านบาท ช่วยทำให้งานในมือ (backlog )แน่นขึ้น จากสิ้นปี 51 ที่จะเหลืองานในมือ 3 พันล้านบาท ทำให้ปีหน้างานเพิ่มเป็น 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท และคาดยอดรับรู้รายได้ปี 52 จะมีประมาณ 3 พันล้านบาท และกำไรสูงกว่าปี 51 แน่นอน ส่วนงานใหม่ในปีหน้าขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่จะผลักดันได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทางถ้ามีโอกาส

นายนที พานิชชีวะ ประธานกรรมการ UNIQ เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" ว่าจากการที่บริษัทได้รับงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งช้น มูลค่างาน 8.75 พันล้านบาท ทำให้บริษัทวางใจได้ว่าสถานการณ์บริษัทในปีหน้าจะไม่ย่ำแย่อย่างปีนี้ เพราะงานในมือเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 51 คาดว่างานในมือจะอยู่ที่ 3 พันล้านบาท ขณะที่โครงการของภาครัฐในปีหน้าก็ยังไม่มีความแน่นอนจะเปิดประมูลเมื่อไร

"Worst case ที่เราไม่มีงานในมือเพิ่ม เราก็ไปได้สบาย ประเด็นคือ สภาพปัจจุบันเราไปได้สบาย จากที่เราได้สายสีแดงที่เป็นตัวเลขที่ใหญ่พอ เราอุ่นใจแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่จะได้เพิ่มถือเป็นโบนัส" นายนที กล่าว

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.51 บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง)ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มูลค่าโครงการ 8.75 พันล้านบาท

นายนที กล่าวว่า เดิมบริษัทเป็นห่วงเรื่องค่าก่อสร้างของโครงการดังกล่าว แต่เมื่อราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวลง ก็คลายกังวลไปหมดแล้ว และค่อนข้างเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะได้กำไร ทั้งนี้ บริษัทจะร่วมหารือกับ รฟท.ในขั้นตอนรายละเอียด ก่อนจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ในปีหน้า โดยโครงการนี้จะทยอยรับรู้รายได้ในช่วง 3-4 ปี

ดังนั้น ในปี 52 คาดว่าบริษัทจะรับรู้รายได้อย่างน้อย 3 พันล้านบาทซึ่งเป็นงานเก่าทั้งหมด โดยเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่อง ได้แก่ งานต่อเชื่อมโครงการทางด่วนด้านรามอินทรา ไปเชื่อมกับวงแหวนสายนอก, งานก่อสร้างโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ(BRT) ซึ่งก่อนหน้าล่าช้าไปเพราะปรับเปลี่ยนแบบ จะสร้างเสร็จก.พ.52 สำหรับเส้นแรกและ เม.ย.52 ในเส้นที่สอง นอกจากนี้ งานในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นงานระบบป้องกันน้ำท่วม ที่สุพรรณบุรี, อ่างทอง

ขณะที่ในปี 51 คาดว่าบริษัทจะรับรู้รายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท ต่ำกว่าปี 50 ที่มี 2.75 พันล้านบาท และกำไรสุทธิต่ำกว่าปี 50 ที่มี 159.91 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากงานในมือมีน้อย และต้นทุนการก่อสร้าก็เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ในปี 52 มั่นใจว่า กำไรสุทธิทำได้ดีกว่าปี 51 โดยอัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)จะสูงกว่า

"ผมคิดว่าตอนนี้ดูเรื่องต้นทุนการก่อสร้าง เป็นต้นทุนที่เป็นภาระที่น้อยลงไป ดังนั้นแนวโน้มมาร์จิ้นในปีหน้าดีขึ้นกว่าปี 51 ซึ่งเราจะไม่ขาดทุน ถึงแม้จะมีสำรองเผื่อไว้ แต่กำไรในปี 51 คิดว่าอาจจะไม่เท่ากับปี 50 เพราะช่วงปี 51 มีงานเข้ามาน้อย พองานไม่มีออกมาใหม่ ตัวรายรับจะน้อยลง กำไรก็จะเป็นไปตามรายรับด้วย ...ฉะนั้น กำไรในปี 52 คิดว่าไม่น้อยกว่า ปี 51 " นายนที กล่าว

ในงวด 9 เดือนของปี 51 บริษัทมีรายได้ 1.83 พันล้านบาท และ กำไรสุทธิ 75.82 ล้านบาท

*รอลุ้นรบ.ใหม่ผลักดันโครงการรัฐ เพิ่มโอกาสได้งาน

กรรมการผู้จัดการ UNIQ กล่าวว่า งานใหม่ในปีหน้า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างของภาครัฐได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นภาระของรัฐบาลใหม่ หากผลักดันงานออกมาได้ บริษัทก็มีโอกาสได้งานเพิ่มสูงขึ้น

และมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไม่ดี ซึ่งธุรกิจของบริษัทขึ้นกับภาครัฐเป็นหลัก ก็ต้องดูว่าภาครัฐจะใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน และเมื่อไร โดยช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เลื่อนโครงการมาตลอด จึงเกิดความไม่แน่นอน เนื่องจากภาครัฐมีความไม่มั่นคงเป็นตัวหลัก ทำให้ทุกอย่างถูกเลื่อนโครงการตลอด แต่หลังจากที่มีรัฐบาลใหม่ทีมีแกนนำเป็นพรรคประชาธิปัตย์ก็มึความมั่นใจมากขึ้นว่าโครงการภาคัฐจะไม่มีการเลื่อนออกไป ดูแล้วไม่น่าเลวร้ายกว่าปีนี้

"ปีหน้าจะได้งานใหม่หรือไม่ขึ้นอยู่รัฐบาล เพราะเรารับงานภาครัฐอย่างเดียว ทำให้คาดไม่ถูก ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ก็ไม่มีการผลักดันการทำโครงการภาครัฐ ตามแผนที่ตั้งไว้" นายนที กล่าว

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย บริษัทจะพิจารณาทีโออาร์ก่อน ไม่ใช่ว่าบริษัทไม่สนใจโครงการรถไฟฟ้า แต่คราวที่แล้วทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีม่วง บริษัทไม่ผ่านคุณสมบัติที่ต้องมีผลงงานในอดึต มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป แต่หลังจากได้งานสายสีแดงก็จะช่วยเพิ่มผลงานในอดีตให้กับบริษัทได้

"สถานการณ์ขณะนี้เรารีบร้อนไม่ได้ ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป งานภาครัฐที่เปิดประมูล เราก็ต้องดูว่าเป็นงานที่เราชำนาญหรือไม่ มีจุดแข็งหรือไม่ เช่นงานสะพาน งานอุโมงค์เป็นงานที่เราถนัด บริหารงานได้ดี เราก็จะเข้าไปประมูลงานเหล่านี้" นายนที กล่าว

ทั้งนี้ นายนที เห็นว่า capacity หรือ กำลังที่บริษัทจะรับงานได้มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทเป็นระดับกำลังดี โดยไม่จำเป็นต้องหาใหม่เพิ่ม เพราะจะทำให้บริษัทสูญเสียฝีมือไปถ้าบริษัทรับงานมากเกินกำลัง หรือขนาดงานที่ใหญ่เกินไป หรือมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทจะเป็นปัญหากับบริษัท ฉะนั้นขนาดงานที่บริษัทมีอยู่ดีอยู่แล้ว ซึ่งบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ