สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จะร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รวบรวมรายชื่อนักลงทุนที่เสียหายจากกรณีของ บมจ.เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส(SECC) เพื่อยื่นฟ้องแพ่งในเดือนม.ค.52 เรียกร้องค่าเสียหายหลักพันล้านบาทตามมูลค่าหุ้นทั้งหมด
"ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์มาการที่ผู้บริหารทำความผิดแบบนี้เป็นกรณีแรก สร้างความเสียหายทั้งต่อตัวบริษัท ผู้ถือหุ้น และลูกค้าของบริษัท รุนแรงกว่ากรณีของรอยเน็ทที่เคยเกิดขึ้น เป็นการผิดธรรมาภิบาลที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ต้องผ่านการตรวจสอบเป็นอย่างดี และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งทางสมาคมฯ เพิ่งพบความผิดปกติเมื่อปิดงบไตรมาส 3"นายวิชัย พูนวรลักษณ์ นายกสมาคมฯ กล่าว
ทางสมาคมฯ จะให้นักลงทุนและผู้ที่เสียหายจากกรณี หุ้น SECC ลงชื่อได้ตั้งแต่ 17 ธ.ค.หรือภายใน 1 สัปดาห์นับจากนี้ เพื่อรวบรวมรายขื่อผู้เสียหายให้ได้มากที่สุด เนื่องจากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้บริหารระดับสูง และอาจรวมถึงคณะกรรมการบริษัท กรรมการอิสระ รวมทั้ง กรรมการตรวจสอบด้วย ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทจดทะเบียน และการดูแลกิจการ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
นายวิชัย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ เองก็ได้รับความเสียหาย เนื่องจากถือหุ้น SECC ไว้จำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก เพื่อใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้น แต่มองว่าการกระทำของผู้บริหารเป็นเรื่องที่รุนแรง และส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง โดยเฉพาะการที่หุ้น SECC ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ยิ่งทำให้ผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยมาก เพราะไม่สามารถซื้อขายหุ้นได้
ส่วนค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง ทางสมาคมฯเชื่อว่าจะไม่มากนัก เนื่องจากได้ขอความร่วมมือจากสภาทนายความ และเชื่อว่าหากมีค่าใช้จ่ายสูง ก็จะได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ ไม่น่าจะมีปัญหาต่อการฟ้องร้องทางแพ่ง ส่วนการเอาผิดทางอาญา เห็นว่าทางกรมสอบสวนพิเศษ(ดีเอสไอ)กำลังตรวจสอบอยู่ ซึ่งหากสมาคมฯ รวบรวมรายชื่อผู้เสียหายและส่งไป ก.ล.ต.และดีเอสไอก็จะเป็นข้อมูลในการกล่าวโทษผู้บริหารได้เพิ่มขึ้น
*ตลท.ส่งข้อมูลให้ก.ล.ต.-ดีเอสไอตรวจสอบคาดเสร็จภายใน 30 ธ.ค.
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการ และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า กรณี บมจ. เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (SECC)ว่าขณะนี้ ตลท.ได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งกรณีนี้ได้มีตรวจสอบพิเศษ ซึ่งคาดว่าการตรวจสอบเสร็จภายใน 30 ธ.ค.
จากนั้นจะส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ตรวจสอบเส้นทางของเงินต่อไป โดยกระบวนการในการตรวจสอบคงขึ้นอยู่กับดีเอสไอ โดยผู้จัดการตลท.เชื่อว่า จะเป็๋นการเอาผิดกับตัวบริหารมากกว่าตัวบริษัท
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ตลท.ส่งไปให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นเกี่ยวข้องกับข้อมูลการให้กู้ยืมเงืนกับบุคคล 4 ราย จำนวน 240 ล้านบาท ข้อมูลการซื้อขายหุ้น SECC ตั้งแต่ช่วงที่เกิดปัญหา และบุคคลเกี่ยวโยงกับการซื้อขายดังกล่าว ส่วนการทุจริตหรือถ่ายเทผลประโยชน์จะมีหรือไม่นั้น เชื่อว่ากระบวนทางกฎหมายจะเข้ามาดำเนินการ
"หลังจากนี้การตรวจสอบจะเป็นการร่วมมือกับ ก.ล.ต.และ ดีเอสไอ ซึ่งในส่วนของเราก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลอย่างเต็มไม่ว่าจะเป็นก.ล.ต.หรือ ดีเอสไอ ที่ร้องขอมา ส่วนตัวผู้บริหารนั้นหากไม่สามารถดูแลกิจการบริษัทได้ ก็ควรหาผู้บริหารคนใหม่เข้ามาดูแล ซึ่งประเด็นนี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นด้วย"นางภัทรียา กล่าว
นอกจากนี้ ตลท.ได้แจ้งความดำเนินคดีหลังพบใบหุ้นปลอม เพื่อหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยถือเป็นความผิดในทางอาญา หลังจากนี้ตำรวจก็ต้องไปสืบว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ขณะที่ตลท.ไม่มีหน้าที่เอาผิดกับผู้บริหารบริษัท
อนึ่ง ในวันที่ 1 ธ.ค.51 คณะกรรมการ SECC ได้แจ้งว่าไม่สามารถติดต่อนายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ประธานกรรมการ SECC ได้ หลังจากในช่วง 25 พ.ย.ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวนายสมพงษ์ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว