บมจ.โรงพยาบาลไทยนครินทร์(TNH)คาดรายได้งวดปี 52(ส.ค.51-ก.ค.52)จะเติบโต 14% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.02 พันล้านบาท และกำไรสุทธิยังเติบโตต่อเนื่องจากงวดปี 51 ที่มีกำไร 128.5 ล้านบาท หลังผลประกอบการในไตรมาส 1/52 ออกมาสวย ผู้บริหารเชื่อธุรกิจโรงพยาบาลรับผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัวน้อยกว่าธุรกิจอื่น แต่ไม่ได้นอนใจเตรียมปรับกลยุทธ์ด้านราคาเสนอจ่ายแบบแพ็คเกจจูงใจลูกค้าใช้บริการต่อเนื่อง รวมทั้งเล็งกลุ่มทำประกันสุขภาพช่วยเพิ่มยอดลูกค้า
ขณะที่ชะลอการเปิดคลีนิคสมองออกไปก่อนรอประเมินจำนวนผู้ใช้บริการใหม่และยังติดขัดเรื่องสถานที่ คาดว่าปลายปี 52 หรือ ต้นปี 53 จะหยิยกมาตัดสินอีกครั้ง แต่ยืนยันเงินลงทุนอุปกรณ์เครื่อง MRI ที่ใช้สำหรับตรวจวัดสมองประมาณกว่า 100 ล้านบาท ไม่ได้เป็นอุปสรรค
"ทั้งปี 52 ประเมินรายได้เติบโตประมาณ 14% โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมา รายได้เพิ่มขึ้น 26% แต่เราก็ต้องดูว่าไตรมาส 2,3,4 เป็นอย่างไร เพราะโยงไปถึงปีหน้าที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ในไตรมาส 1/52 เราถือว่าตุนไว้เยอะ ในปีนี้(52)ยังคงเป้าไว้ตามเดิม เพราะช่วงไตรมาส 1 ของเรา หรือเทียบกับไตรมาส 3 ของโรงพยาบาลแห่งอื่น ดูแล้วอุตสาหกรรมโรงพยาบาลก็ยังไม่ได้รับผลกระทบที่ว่าเศรษฐกิจตกต่ำ โรงพยาบาลถือว่าได้รับผลกระทบน้อย"นางอำไพ พยัคคง ผู้อำนวยการบริหาร TNH กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
"แต่เราก็ไม่รู้ ก็ต้องดูต่อไป ว่าปีหน้าจะเป็นยังไง เพราะประชาชนอาจจะเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อาจไปหันใช้บริการสุขภาพที่ประหยัดกว่าหรือเปล่า เราก็ยังไม่รู้ แต่แน่นอนเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปหาหมอ แต่จะเลือกใช้บริการที่ไหน"
ทั้งปี 52 คาดว่าผู้ป่วยนอกมีจำนวนพิ่มขึ้น 7-8% และผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 5% ดังนั้น คาดว่ากำไรในปี 52 ก็ยังเติบโตต่อเนื่อง ถ้าการดำเนินกิจการเป็นไปได้อย่างนี้ต่อเนื่อง
ในไตรมาส 1/52 (ส.ค.- ต.ค.51) TNH มีกำไรสุทธิ 57.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 95% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้ 300.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยนอก ผู้ป่วนในเพิ่มขึ้น
นางอำไพ มองว่า ผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มเข้ามาใหม่ในปี 52 นี้ มาจาการกลุ่มลูกค้าที่ทำประกันชีวิตที่มีประกันสุขภาพ จึงคิดว่าผลกระทบไม่ค่อยจะมีมากนัก
นอกจากนี้ ราคาค่ารักษาของ รพ.ไทยนครินทร์ ถือว่าไม่สูงจนเกินไป เพราะเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง และมองว่ากลุ่มลูกค้าของ TNH ก็อยู่ในกลุ่ม เอ—บี ซึ่งถือเป็นกลุ่มพรีเมียม จึงคิดว่าน่าจะรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้ไว้ได้
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มองกลยุทธ์ด้านราคาไว้ เพราะเศรษกิจไม่ดี ปัจจัยด้านราคาก็มีผลเหมือนกัน โดยมีแผนจะจัดเป็นแพ็คเกจ หรือแบบเหมาจ่าย เพื่อทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกคุ้มค่า สามารถคุมค่าใช้จ่ายและวางแผนการใช้บริการได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะใช้กับผู้ป่วยในมากกว่า
"ตอนนี้แพ็คเกจ แบบเหมาจ่าย กำลงพิจารณาด้านการรักษาโรคหัวใจ , โรคกระดูกและข้อ โดยทางด้านการตลาดกำลังพิจารณาเรื่องราคาส่งเสริมการขายอยู่" นางอำไพกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2/52(พ.ย.51-มค.52)ยังไม่พบสัญญาณการลดลงของคนไข้ และยังรักษาการเติบโตได้อยู่
"รายได้ปี 52 เติบโตได้จากทิศทางที่เป็นเช่นนี้ และเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง ราคาก็ถือว่าเหมาะสม และมองว่า จากกรมธรรม์ประกันสุขภาพก็มีส่วนทำให้เติบโต โดยลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินเอง แต่รับบริการได้ต่อเนื่อง เชื่อว่าทิศทางการเติบโตที่คาดการณ์เป็นไปได้"นางอำไพ กล่าว
นางอำไพ ยอมรับว่า จากผลเปิดศูนย์รักษาเฉพาะทาง ได้แก่ ศูนย์หัวใจ ศูนย์มะเร็ง และศูยย์กระดูกและข้อนั้น ทำให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจในการใช้บริการของโรงพบาบาลไทยนครินทร์เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะแผนกอายุรกรรมที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ขณะเดียวกันอัตราการเติบโตของทั้ง 3 ศูนย์ดังกล่าวก็ยังโตต่อเนื่องแม้สัดส่วนรายได้จะไม่ใช่อันดับต้น ๆ
“ศูนย์ทั้ง 3 ศูนย์ของเราก็เติบโตต่อเนื่องเป็นลำดับ ซึ่งดิฉันก็วิเคราะห์ว่าสิ่งที่เปิด 3 ศูนย์ช่วยให้ลูกค้าก็มีความมั่นใจ และแสดงว่าเรามีพัฒนา มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพราะสามารถเปิด 3 ศูนย์ได้ ลูกค้ามั่นใจขึ้นก็เลยทำให้มีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาทุกๆแผนก เขาดูว่าเราสามารถทำศูนย์หัวใจได้ เขามารักษาแค่ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ หรืออาการทั่วๆไปก็รู้สึกมั่นใจ หรือคนที่ไม่เคยมา แต่ที่นี่เขามีศูนย์หัวใจ น่าจะโอเค"นางอำไพ กล่าว
*ชะลอเปิดคลีนิคสมองออกไป รอประเมินใหม่ปลายปี52-ต้นปี 53
สำหรับแผนการเปิดคลินิกสมองนั้น ผู้อำนวยการบริหาร TNH กล่าวว่า ยังชะลอการลงทุนออกไปก่อน ทั้งที่ทางโรงพยาบาลมีแนวคิดจัดตั้งเมื่อปี 50 แต่ก็ยืนยันว่าไม่ได้เลิกล้มความคิด แต่ที่ยังดำเนินการไม่ได้เพราะต้องดูเรื่องของสถานที่ และที่สำคัญอยู่ที่จำนวนคนไข้ที่คาดว่าจะมาใช้บริการ
ขณะนี้ในส่วนสถานที่นั้นพื้นที่เดิมของโรงพยาบาลส่วนใหญ่เต็มเกือบหมดแล้ว บางวันโรงพยาบาลมีผู้ป่วยนอกเข้ามาใช้บริการอย่างคับคั่ง และยังรอการประเมินปริมาณคนไข้ที่จะเข้ารักษาด้านสมอง ที่ผ่านมามีตัวเลขเติบโตต่อเนื่อง ในส่วนอุปรกณ์เครื่อง MRI ที่ใช้สำหรับตรวจวัดสมอง ที่ต้องลงทุนกว่า 100 ล้านบาท น่าจะเป็นงบลงทุนของงวดบัญชีปี 53 ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองมีพร้อมแล้ว
"คิดว่าจะตัดสินใจลงทุนคลินิกด้านสมอง จะเป็นปลายปี 52 ต่อปี 53 ซึ่งคาดว่าปีหน้า(ปี52)คงเห็นภาพชัดเจนขึ้น ดูสถานการณ์รอบด้านว่าคนไข้ ที่เราประเมินไว้ว่าจะเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งถ้าหากยังมีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ เราก็ต้องมาพิจารณา"นางอำไพ กล่าว
"เรารอดูเรื่องสถานที่ และการลงทุนที่ระดับ 100 ล้านบาท เราก็ต้องหาจุดที่เหมาะสมของเรา แต่เรื่องคุณภาพการรักษาเรามองว่าประสิทธิภาพรักษาได้เหมือนเดิม...เรื่องสำคัญเราต้องขอดูเรื่องสถานที่หลังขยายแผนกอายุรกรรม และดูหลายเรื่องทั้งเรื่องคนไข้ ก็เป็นปัจจัยหลักด้วย ส่วนเรื่องสภาพคล่องไม่เป็นอุปสรรค หนี้สินก็ไม่มีสักบาท เป็นเรื่องที่คุยกันอยู่ คือต้องให้ลงตัวทุกอย่าง"นางอำไพ กล่าว
ส่วนงบการลงทุนในปี 52 จะมีการปรับปรุงสถานที่ที่จะขยายแผนกอายุรกรรม ซึ่งเป็นแผนกที่มีผู้ใช้บริการมาก คาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท หลังจากที่ได้ปรับปรุงมาแล้วเมื่อปี 46-47 ซึ่งคาดว่าจะขยายเสร็จประมาณกลางปี 52
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้ป่วยนอกในสัดส่วน 58% และผู้ป่วยใน 42%
โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลย่านถนนบางนา-ตราดแห่งเดียวที่ไม่มีคนไข้ประกันสังคม และอยู่ในทำเลที่ดี ที่กม.3.5 มีขนาด 245 เตียง จากจำนวนที่รับได้เต็มที่ 300 เตียง