ทริสเรทติ้ง ปรับเครดิตองค์กร SSI เป็น“BBB-/Stable"จาก“BBB/Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 18, 2008 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี(SSI)เป็น “BBB-"จากเดิม “BBB" พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable"หรือ“คงที่"จาก“Negative"หรือ“ลบ"

อันดับเครดิตที่ปรับลดลงสะท้อนความคาดการณ์ของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทที่จะอ่อนแอลงในอนาคตอีกหลายไตรมาสอันเนื่องมาจากอุปสงค์ที่ลดลง ต้นทุนสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และสภาพการณ์ทางการตลาดในเชิงลบจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก

อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงจากทั้งผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนลักษณะของอุตสาหกรรมเหล็กที่มีความผันผวน ลักษณะการทำธุรกรรมที่เป็นสัญญาซื้อขายระยะสั้น (1-3 เดือน) และลักษณะของการดำเนินธุรกิจที่มีสินค้าเพียงประเภทเดียวและมีโรงงานแห่งเดียว

อย่างไรก็ตาม ก็มีแรงหนุนจากฐานะผู้นำตลาดของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตเหล็กทรงแบนภายในประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า และการมีโครงสร้างต้นทุนแบบผันแปรซึ่งช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการผลิต

แนวโน้มอันดับเครดิต“Stable"หรือ“คงที่"สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะดำเนินการบริหารสินค้าคงคลังอย่างระมัดระวังในช่วงที่เหล็กมีราคาผันผวนอย่างมาก บริษัทยังถูกคาดหวังว่าจะมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะใช้ในการชำระหนี้

ทริสเรทติ้งรายงานว่าถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานของ SSI ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ผลประกอบการเต็มปีน่าจะอ่อนตัวลงเนื่องจากการปรับตัวลดลงของราคาเหล็กในไตรมาสที่ 3

ทั้งนี้ ผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วง 6 เดือนแรกได้รับประโยชน์จากการที่ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นและการที่บริษัทมีสินค้าคงคลังในราคาต่ำที่ยกยอดมาจากปี 2550 คิดเป็นประมาณ 3 เดือนของยอดขาย ส่งผลให้เงินทุนจากการดำเนินงานและอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 2,285 ล้านบาท คิดเป็น 11.10% เมื่อเทียบกับ 643 ล้านบาท หรือ 6.37% ในช่วงเดียวของปีก่อน

ทั้งนี้ สัญญาณของผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงได้เริ่มปรากฏให้เห็นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากการปรับลดลงอย่างมากของส่วนต่างของราคาเหล็กและวัตถุดิบและปริมาณขาย โดยส่วนต่างของราคาเหล็กและวัตถุดิบใน ไตรมาสที่ 3 ปรับลดลง 26% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 และปริมาณขายลดลง 45% จากการที่ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อเนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาจะปรับลดลงต่อไปอีก ในขณะเดียวกันบริษัทก็ชะลอการขายเนื่องจากราคาเหล็กปรับลดลงต่ำกว่าต้นทุนของบริษัท

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ลดลงเหลือ 4.17% เทียบกับ 12.15% ในไตรมาสที่ 2 ราคาเหล็กที่ปรับลดลงอย่างมากทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองเผื่อการลดมูลค่าของราคาวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปรวมทั้งสิ้น 1,358 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ในช่วงดังกล่าวบริษัทมีการจัดซื้อวัตถุดิบด้วยความระมัดระวัง ปริมาณวัตถุดิบคงเหลือของบริษัทลดลงอย่างมากจาก 240,560 ตัน ณ เดือนธันวาคม 2550 เหลือ 117,467 ตัน ณ เดือนกันยายน 2551

ถึงแม้ว่าเงินกู้ส่วนใหญ่ของบริษัทจะใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน แต่ภาระหนี้ ณ เดือนกันยายน 2551 ยังเพิ่มขึ้นถึง 4,726 ล้านบาท โดยอยู่ที่ 16,614 ล้านบาท จาก 11,888 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2550 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นและเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการซื้อกิจการของ บริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย จำกัด (มหาชน)

ณ เดือนกันยายน 2551 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 13.18% และ 42.09% ตามลำดับ ทั้งนี้ รายได้และกำไร รวมถึงอัตราส่วนกำไรที่คาดว่าจะลดลงน่าจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่อ่อนแอลงด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลทำให้ส่วนเกินในการดำรงอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทลดลง

โดยเฉพาะในส่วนของอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งบริษัทต้องดำรงไว้ไม่น้อยกว่า 1.25 เท่า ณ ทุกๆ ครึ่งปี ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2551 อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ 1.59 เท่า อย่างไรก็ตาม ด้วยการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหนี้ หากบริษัทไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข ก็คาดว่าเจ้าหนี้น่าจะยินดีผ่อนผันให้

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (Hot-rolled Coil) ภายในประเทศทั้งหมด 3 ราย โดย SSI เป็นผู้นำตลาดทั้งในด้านปริมาณการผลิตและยอดขาย กระบวนการผลิตของบริษัทแตกต่างจากโรงงานผลิตเหล็กแบบครบวงจรและโรงหลอมเหล็กขนาดเล็กโดยทั่วไปเนื่องจากบริษัทไม่ได้ทำการผลิตเหล็ก แต่นำเหล็กแท่งแบนกึ่งสำเร็จรูป (Semi-finished Slab) ไปผ่านกระบวนการผลิตให้เป็นเหล็กแผ่นชนิดม้วน (Flat-rolled Coil)

บริษัทมีโรงงานเพียงแห่งเดียว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การเลือกสถานที่ตั้งโรงงานมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งทั้งในด้านการรับวัตถุดิบและการจัดส่งผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป บริษัทมีรายได้จากยอดขายภายในประเทศประมาณ 93.86% ของยอดขายรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐในระดับหนึ่ง ผู้ประกอบการภายในประเทศจึงได้รับประโยชน์จากมาตรการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดของรัฐบาลซึ่งอยู่ระหว่าง 3.45%-128.11% สำหรับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากผู้ผลิต 14 ประเทศ

ทั้งนี้ มาตรการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดของรัฐบาลหมดอายุไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนจากกรมการค้าต่างประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาในเรื่องการต่ออายุอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการภายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบด้านลบจากการนำเข้าเหล็กราคาถูกในปริมาณมากจากประเทศที่ไม่ถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน

ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของ SSI มาจากการมีโรงงานเพียงแห่งเดียวโดยจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงในกรณีที่โรงงานหยุดดำเนินการนอกแผน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัท นอกจากนี้ การขาดกระบวนการผลิตที่ครบวงจรและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ยังส่งผลให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนด้านอุปทานและอุปสงค์ของเหล็กแท่งแบนและเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนในตลาดโลกด้วย

ในขณะเดียวกัน นโยบายในการสำรองเหล็กแท่งแบนขนาดต่างๆ เพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตตามคำสั่งของลูกค้ายังส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบและทำให้มีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนในระดับสูง อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีโครงสร้างต้นทุนที่ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนผันแปรซึ่งทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการผลิตโดยสามารถปรับตารางการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ