นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครือบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC)คาดว่า ส่วนต่างราคาขายปิโตรเคมีใน(สเปรด) ปี 51 จะอยู่ที่ประมาณ 500 เหรียญ/ตัน ต่ำกว่าปี 50 ที่มีสเปรดประมาณ 800 เหรียญ/ตัน แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะราคานาฟทาที่เป็นวัตถุดิบหลักปรับตัวเพิ่มสูงมาก
และจากที่ปี 52 ธุรกิจปิโตรเคมีจะอยู่ในช่วงขาลงนั้น เชื่อว่าสเปรดก็คงไม่น่าจะไม่ลงไปต่ำถึง 300 เหรียญ/ตัน เพราะมองแล้วภาวะไม่น่าจะรุนแรงเหมือนช่วงวิกฤตเมื่อปี 44(ค.ศ.2001)ที่สเปรดลงไปต่ำที่ระดับ 300 เหรียญ/ตัน โดยขณะนี้ยอดขายหรือคำสั่งซื้อน้อยลง เพราะเกิดภาวะช็อคจากราควัตถุดิบหรือนาฟทาที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และราคาขายก็ลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดการชงักเพื่อรอดูสถานการณ์ ประกอบกับ ความเชื่อมั่นของลูกค้าก็ยังไม่มี
"เมื่อช่วงวิกฤตปี 2001 สเปรดลงไปถึงระดับ 300 เหรียญ/ตันถือว่าวิกฤตสุด ๆ แล้วในธุรกิจปิโตรเคมี ปีหน้าแม้จะเข้าสู่ช่วงขาลงแต่ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากช่วงนี้ก็ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามา"นายชลณัฐ กล่าว
ทั้งนี้ มองว่าในปี 52 เป็๋นปีที่ต้องวัดฝีมือของธุรกิจปิโตรเคมี และบริษัทเองก็คาดว่าจะมีผลประกอบการด้านธุรกิจปิโตรเคมีออกมาไม่ดีนัก ตามภาวะขาลงของอุตสาหกรรม แต่บริษัทก็ยังมียอดออเดอร์ในระดับที่น่าพอใจ และคาดว่า บริษัทจะใช้อัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 80% จากปกติที่ใช้กำลังการผลิต 85-90% ซึ่งถือว่ายังเป็นระดับที่น่าพอใจ รวมทั้ง ไม่กระทบต่อธุรกิจมากนัก เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ใช้กำลังการผลิตที่ระดับ 70%
นายชลณัฐ กล่าวว่า ในปีหน้า จะหันมาเน้นขายสินค้าในเกรดพิเศษซึ่งมีมาร์จิ้นดีกว่าสินค้าอื้น และราคาขายปรับตัวต่ำกว่าสินค้าอื่น อีกทั้งยังสามารถขยายไปยังกลุ่มลูกค้าหลากหลาย เช่นวัสดุก่อสร้างจากเดิมที่บริษัทเน้นกลุ่มบรรจุภัณฑ์ รวมทั้ง จะหันมาควบคุมการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้า การขนส่งสินค้า มากกว่าจะเน้นการเติบโตของยอดขาย เชื่อว่าผู้ผลิตปิโตรเคมีรายอื่นก็จะหันมาใช้วิธีดังกล่าวเช่นกัน
และบริษัทก็มั่นใจว่า บริษัทมีความสามารถในการแข่งขัน แม้ว่าจะใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งราคาสูงกว่าก๊าซ แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาก๊าซและนาฟทาไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้ความสามารถในการแข่งขัน ถือว่าสูสีกัน
ส่วนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม นายชลณัฐ กล่าว่า โครงการนี้จะชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง จำเป็นต้องกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้มีปัญหาสภาพคล่องและการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นจึงอยากฝากรัฐบาลให้ช่วยผลักดันให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อกับภาคธุรกิจที่แท้จริง เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ และ ผลักดันัให้เศรษฐกิจโดยรวมเดินหน้าได้ เพราะหากไม่มีการปล่อยสินเชื่อการลงทุนใหม่คงเกิดยาก