โบรกเกอร์แนะ"ซื้อ"หุ้นธนาคารนครหลวงไทย(SCIB)มองแนวโน้มยอดหนี้ด้อยคุณภาพ(NPL)ลดลง โดยปีหน้ามีแผนขาย NPL 8 พันล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้ารายใหญ่ คาดหลังทำสำเร็จจะทำให้มีสำรองส่วนเกินจากก่อนหน้าตั้งสำรองเต็มไว้แล้ว ส่งผลดีให้กำไรปรับตัวดีขึ้น ส่วนปีนี้ SCIB ก็พลิกมีกำไรได้จากปี 50 ขาดทุน ทำให้มีสิทธิรอรับเงินปันผล
ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นได้รับข่าวร้ายไปหมดแล้วและได้ปรับตัวลงกว่า 60% จากราคาที่เคยขึ้นไปสูงสุด ระบุเป็นจังหวะที่เข้าไปลงทุน โดยราคาขณะนี้เคลื่อนไหวอยู่ที่ 7.20 บาท ลดลง 0.05 บาท(-0.67%)
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) บล.ฟาร์อีสท์ เก็งกำไร 10.30 บล.เกียรตินาคิน ซื้อลงทุน 10.10 บล.กรุงศรีอยุธยา เก็งกำไร 10.00 บล.ฟิลลิป ซื้อ 9.90 บล.เคจีไอ ซื้อ 8.80 บล.ยูไนเต็ด ซื้อเมื่ออ่อนตัว 8.90 บล.ทิสโก้ ซื้อ 8.00
นายวรวัฒน์ สายสุพัฒน์ผล นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)กล่าวว่า SCIB มีแผนปรับ NPL ที่มีอยู่ราว 8 พันล้านบาท ขายไปแล้ว 1.2 พันล้านบาทเมื่อไตรมาส 3/51 และมีแผนจะขายอีก 2.4 พันล้านบาทในปีหน้า ยังเหลืออีกประมาณ 4 พันล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้ารายใหญ่ในธุรกิจน้ำตาลรายหนึ่ง ซึ่งหนี้จำนวนนี้ได้ตั้งสำรองไว้เกือบหมดแล้ว มองว่าจะทำได้เสร็จภายในไตรมาส 1/52 น่าจะได้สำรองส่วนเกินจำนวนมากหรือประมาณ 3 พันกว่าล้านบาทหลังการปรับโครงสร้างหนี้
แม้ว่าตลาดมองว่าผลประกอบการของ SCIB ในปีหน้าค่อนข้างจะไม่ดี เพราะมีการตั้งสำรองค่อนข้างมาก แต่ถ้าลด NPL ได้การตั้งสำรองอาจน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ประมาณ 2 พันกว่าล้านบาท และอาจจะเห็นผลประกอบการดีขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้
บล.เคจีไอ มองแนวโน้มกำไร SCIB ปีหน้าลดลง แต่ก็จะดีขึ้นจากที่เคยคาดไว้ โดยปี 52 ประเมินกำไร 3.1 พันล้านบาท ปรับใหม่เป็น 3.3 พันล้านบาท และคาดว่าน่าจะฟื้นตัวในปี 53 โดยาจะมีกำไร 3.7 พันล้านบาท จากเดิมคาดไว้ 3.5 พันล้านบาท
"เรามองว่าราคาหุ้นร่วงมาเยอะ เท่าที่เห็นร่วงลงมาจากราคา Peak(19 บ.) กว่า 60% และก็ underperform กว่าตลาดมาค่อนข้างเยอะ แต่ของถูกอย่างเดียวไม่พอ และเราปรับประมาณการกำไรขึ้นมาน่าจะเป็น positive เราไม่ได้บอกว่า profit จะโต แต่ดีกว่าที่เราคาดไว้...มองว่าที่ระดับราคานี้น่าจะลงทุนได้แล้ว"นายวรวัฒน์ กล่าว
บล.ทิสโก้ ระบุว่า SCIB มีการดำเนินงานที่ดี(outperform)กว่าคู่แข่งของธนาคารในแง่ของอัตราการขยายตัวสินเชื่อระหว่างครึ่งหลังปี 51 ขณะที่อัตราการขยายตัวสินเชื่อของธนาคารอื่นๆ ชะลอตัว คาดว่าอัตราการขยายตัวสินเชื่อทั้งปีของธนาคารจะอยู่ที่ 10% YoY มาจากการเร่งตัวขอสินเชื่อรายย่อย(ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย)และ SMEs
ผู้บริหารได้ตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวสินเชื่อสำหรับปี 52 ที่ 6-8% ด้วยสมมติฐานอัตราการขยายตัว GDP 3% และเราคาดว่า NPL ใหม่ในไตรมาส 4/51 จะเพิ่มขึ้นจาก 6.8% มาอยู่ที่ 7.2%
บล.กรุงศรีอยุธยา คาดว่า SCIB มีกำไรสุทธิในไตรมาส 4/51 จะอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท ซึ่งจะลดลง 20% YoY และ 16% QoQ เนื่องจากค่าใช้จ่ายภาษีจะเพิ่มขึ้น ด้านสินเชื่อมีแนวโน้มจะขยายตัวลดลงที่ 3.3% QoQ จากราว 4% ในไตรมาสก่อน ส่วน NIM จะลดลงราว 10 bps.เหลือ 3.12% เนื่องจากเงินปันผลลดลง
ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดย SCIB จะตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุนใน บล.นครหลวงไทย (SCIBS)ราว 1 พันล้านบาท เนื่องจากความเสียหายจากการบังคับขายหุ้น แต่ SCIB จะ write back ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯเป็นกำไรราว 1 พันล้านบาทจากการปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ ซึ่งจะชดเชยความเสียหายที่เกิดจาก SCIBS ได้
ด้านคุณภาพสินเชื่อ แม้ SCIB จะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่จากความเสี่ยงเศรษฐกิจสูงขึ้นทำให้หนี้ NPL อาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ก็อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เราคาดว่าหนี้ NPL จะทรงตัวจากไตรมาสก่อนที่ราว 2 หมื่นล้านบาท และ NPL ratio ณ สิ้นปี 51 จะอยู่ที่ราว 6.7%
ทั้งนี้ SCIB ได้ขายหนี้เสียไป 1.2 พันล้านบาทในปี 51 จากเป้าหมาย 8 พันล้านบาท และจะขายเพิ่มอีก 2.2 พันล้านบาทในปี 52 ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้ารายสำคัญที่มีมูลค่าราว 4 พันล้านบาทจะเลื่อนไปเป็นปีหน้า หากการเจรจาสำเร็จ และหนี้เสียไม่ปรับขึ้นมาก คาดว่า NPL ratio จะลดลงได้ตามเป้าหมายที่ 5.5% ในปี 52
บล.กรงศรีอยุธยา ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 51 ของ SCIB ขึ้น 20% เป็น 4.6 พันล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิ 2 พันล้านบาทในปี 50 นอกจากนี้ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 52 ขึ้น 10% เป็น 4.8 พันล้านบาท(+4.6% YoY)โดยคาดว่า SCIB จะจ่ายเงินปันผลในปีนี้ที่ 0.65 บาท/หุ้น หลังจากที่ไม่ได้จ่ายในปีก่อนเพราะปัญหาขาดทุน
บล.เกียรตินาคิน คาดผลประกอบการไตรมาส 4/51 ของ SCIB มีกำไรสุทธิ 1,246 ล้านบาท ลดลง 9.8%YoY และ 5.3%QoQ เนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นและไม่ได้รับเงินปันผลจากกองทุนวาภักษ์ ถึงแม้จะมีการกลับสำรองเป็นรายได้ แต่ก็จะต้องไปชดเชยผลขาดทุนจำนวนมากของบริษัทลูก คาดปี 51 SCIB มีกำไรสุทธิ 4,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากจากปี 50 ที่มีการตั้งสำรองจำนวนมากจนผลประกอบการขาดทุน 2,029 ล้านบาท
ส่วนปี 52 เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิไว้ที่ 4,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9%YoY ให้ราคาเหมาะสม 10.10 บาท ยังคงแนะนำ“ซื้อลงทุน"จากผลตอบแทนเงินปันผลระดับสูงถึง 12.4% ในปี 52
บล.ฟาร์อีสท์ ระบุว่า ในไตรมาส 4/51 คาดว่า SCIB จะตั้งสำรองเข้ามาเพิ่มราว 348 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.96% จากไตรมาส 3/51 ในทิศทางเดียวกับสินเชื่อสุทธิ แต่อย่างไรก็ดีในไตรมาส 4/51 จะมีการบันทึกกำไรจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จากลูกหนี้เดิม 1 รายเข้ามาราว 1 พันล้านบาท ทำให้คาดว่าในไตรมาส 4/51 ตัวเลขการตั้งสำรองและขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ของ SCIB จะกลับมาเป็นบวกราว 652 ล้านบาท
ขณะที่ NPL คาดว่ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของ SME ทั้งนี้เราคาดว่าสัดส่วน Gross NPL Ratio ในปี 51 จะอยู่ที่ระดับ 7.30% เพิ่มขึ้นจากราว 7.27% ในปี 50
ในช่วง 11 เดือนของปี 51 ตัวเลขสินเชื่อสุทธิของ SCIB ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 9.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังใน 2 เดือนแรกของในไตรมาส 4/51 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องราว 2.80% โดยปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวคือการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อ Retail โดยเฉพาะในกลุ่ม Mortgage ที่ยังคงขยายตัวเฉลี่ยราว 1-1.2 พันล้านบาท/เดือน
และในไตรมาส 4/51 คาดว่า Net Interest Margin(NIM)จะอยู่ที่ระดับ 3.04% ลดลงจาก 3.22% ในไตรมาส 3/51