ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (24 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรหุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มค้าปลีก หลังจากราคาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักลงทุนไม่ได้วิตกกังวลมากนักต่อข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ เนื่องจากข้อมูลบางด้านไม่เลวร้ายเหมือนที่คาดการณ์ไว้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 48.99 จุด หรือ 0.58% แตะระดับ 8,468.48 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 4.99 จุด หรือ 0.58% แตะที่ 868.15 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 3.36 จุด หรือ 0.22% แตะที่ 1,524.90 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 403.7 ล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 3 ต่อ 2 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 516.7 ล้านหุ้น
สตีเฟน คาร์ล นักวิเคราะห์จาก เดอะ วิลเลียม แคปิตอล กล่าวว่า "นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มค้าปลีกหลังจากราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 36 ดลอลาร์/บาร์เรล โดยเชื่อว่าราคาพลังงานที่ปรับตัวลงจะช่วยกระตุ้นผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคาดหวังว่ารัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ภายใต้การนำของ บารัค โอบามา จะนำสิ่งดีๆมาสู่แผ่นดินสหรัฐอเมริกาในปีหน้านี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ที่มีมูลค่าสูงกว่ามาตรการในสมัยของจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช"
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการในระหว่างตกงานเพิ่มขึ้น 30,000 ราย แตะระดับ 586,000 รายในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ธ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ที่ 560,000 ราย นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย.ร่วงลง 1% แต่ลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะดิ่งลง 2.9%
อีธาน แฮร์ริส หัวหน้าหน่วยวิจัยเศรษฐกิจจากบาร์เคลย์ แคปิตอล อิงค์ ในนิวยอร์ค กล่าวว่า ยอดขายสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสุดในรอบปีสำหรับร้านค้า อาจย่ำแย่สุดในรอบอย่างน้อย 40 ปี หลังความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงและอัตราว่างงานสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหรัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0-0.25%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขั้นสุดท้ายประจำไตรมาส 3 หดตัวลง 0.5% มากกว่าที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.3% และเป็นสถิติที่หดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปีพ.ศ.2544 ซึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย
กระทรวงพาณิชย์ยังระบุด้วยว่า ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง 3.7% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบ 28 ปี เมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะลดลง 3.1% ขณะที่ภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายลง 17.6% ซึ่งเป็นการร่วงลงติดต่อกันยาวนานถึง 11 ไตรมาส
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นกลุ่มสายการบินปิดพุ่ง 2% และดัชนี S&P 500 หุ้นกลุ่มค้าปลีก ปิดบวก 1% หลังจากสัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ร่วงลง 3.63 ดอลลาร์ แตะระดับ 35.35 ดอลลาร์/บาร์เรล