นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี 52 ที่ 6-7% เป็นการเติบโตลดลงจากปี 51 ที่เติบโต 10% หรือมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ 2.7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ การเติบโตของสินเชื่อของธนาคารยังคงมาจากรายย่อยเป็นหลัก รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะสินเชื่อเคหะที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขในปี 51 อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท จาก 3 พันล้านบาทในปี 50 และในปี 52 ยังน่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
"ยอมรับว่าปี 52 เป็นปีที่ยากในการกำหนดทิศทางและเป้าการเติบโต ครึ่งปีแรกคงจะเติบโตอย่างระมัดระวังจากธุรกิจที่มีความเสี่ยงแต่หลังจากนั้นคงดีขึ้น ทำให้เราไปโฟกัสในครึ่งปีหลังมากกว่า การที่เราตั้งเป้าสินเชื่อโต 6-7% เพื่อไม่ให้กดดันทีมงานจนเกินไป" นายชัยวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตดังกล่าวถือว่าสูงกว่าสินเชื่อโดยรวมในระบบที่มองว่าจะเติบโตเพียง 5% บวก/ลบ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน จึงทำให้ประชาชนกังวลในการมาขอสินเชื่อ
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนหนี้ด้อยคุณภาพ(NPL)ยอมรับว่าในปี 52 มีความเป็นห่วง NPL ทั้งระบบ หลังจากที่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปีก่อนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ชิ้นส่วนยานยนต์ หรือ โรงแรม ซึ่งธนาคารก็พยายามลด NPL จะให้ต่ำกว่า 5.5% จากสิ้นปี 51 ที่ 6.8% หรือคิดเป็นมูลหนี้ 2.1 หมื่นล้านบาท และในขณะนี้ธนาคารก็ได้มีการตั้งทีมเพื่อดูแล NPL และ Pre-NPL Management ซึ่งน่าจะทำให้ NPL ลดลงได้
"ธนาคารมีแผนขาย NPL NPA แบบยกล็อต หรือ ให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นผู้ขาย" นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับนโยบายการตั้งสำรองนั้น ในปี 52 ธนาคารคงจะตั้งสำรองตามปกติ เฉลี่ยที่ 0.5% ของสินเชื่อรวม หรือ คิดเป็นไตรมาสละ 300 ล้านบาท ขณะที่การบังคับใช้เกณฑ์ BASEL II นั้นมีผลให้ BIS Ratio ลดลงประมาณ 1.5% จากปัจจุบันที่ธนาคารมี BIS อยู่ที่ 12-13% แต่เชื่อว่าไม่มีปัญหา
ส่วนความคืบหน้าการเพิ่มทุนของธนาคารนั้น นายชัยวัฒน์ คาดว่า จะสามารถสรุปเลือกที่ปรึกษาการเงิน (FA) ได้ภายในม.ค.นี้และจะเห็นรูปแบบความชัดเจนแนวทางการเพิ่มทุนของธนาคารได้ในเดือนมี.ค.
"ยอมรับว่ามีความล่าช้า เพราะได้รับผลกระทบจากในช่วงที่ปิดสนามบินทำให้ FA ที่เป็นต่างชาติไม่สามารถเข้ามาได้" นายชัยวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ธนาคารคงจะทยอยเสนอขายหุ้นกู้ภายใต้วงเงินที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว 8 หมื่นล้านบาทจนครบวงเงิน ซึ่งยอมรับว่าการออกหุ้นกู้เป็นอีกช่องทางของการระดมทุนเพื่อช่วยธุรกิจไม่ว่าจะเป็นในแง่การบริหารเงินกองทุน สภาพคล่อง และการต่อยอดธุรกิจ