นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น(KSL)มองว่าปีนี้ปัจจัยบวกรอบด้านช่วยดันรายได้งวดปี 52(สิ้นสุด ต.ค.)เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 5-10% ส่วนกำไรก็เชื่อว่าจะดีกว่าปีก่อนเช่นกัน ทั้งปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทอ่อน ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะได้ประโยชน์ต่อโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นบริษัทย่อย รวมถึงความต้องการใช้น้ำตาลและเอทานอที่ไม่ได้ลดลงไปตามภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ถดถอย
"ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ KSL แต่อย่างใด ทั้งในส่วนของโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงงานผลิตเอทานอล เนื่องจากสินค้าทั้ง 2 กลุ่มของบริษัทเป็นสินค้าพื้นฐานที่ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค"นายชลัช กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อนึ่ง ผลประกอบการของ KSL งวดในปี 51(พ.ย.50-ต.ค.51)มีรายได้ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 860 ล้านบาท
ในปีนี้บริษัทยังจะเริ่มรับรู้รายได้จากการผลิตโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชาที่จะเริ่มเดินเครื่องผลิตบางส่วนตั้งแต่เดือน มี.ค.52 หลังจากการก่อสร้างจะแล้วเสร็จไล่เลี่ยกันในช่วงปลายเดือนก.พ. คาดว่ารายได้ที่เข้ามาจากโรงงานทั้ง 2 แห่งนี้จะอยู่ในสัดส่วนราว 5%ของรายได้ทั้งหมดของ KSL ปีนี้ จากนั้นจะทยอยเพิ่มการผลิตจนเต็มกำลังในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือประมาณปี 55
สำหรับโรงงานน้ำตาลสะหวันนะเขตที่ประเทศลาว ระยะแรกจะมีกำลังการผลิตราว 3,000 ตันอ้อย/วัน ส่วนโรงงานน้ำตาลเกาะกงที่ประเทศกัมพูชา ระยะแรกจะมีกำลังการผลิตราว 6,000 ตันอ้อย/วัน
"คาดว่า(โรงงานน้ำตาลในลาว, กัมพูชา) จะเพิ่มรายได้ให้ KSL ไม่เกิน 5% ในปี 52 เพราะยังเดินเครื่องไม่เต็มที่ แต่จะเต็มกำลังคาดว่าจะ 3 ปีคงค่อยๆ โตขึ้น ที่ลาวถ้าเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตจะได้ 5 แสนตันอ้อย/ปี ส่วนที่กัมพูชา 1 ล้านตันอ้อย/ปี" ผช.กก.ผจญ. สายพัฒนาธุรกิจ KSL กล่าว
อนึ่ง บทวิเคราะห์ของบล.ยูไนเต็ด ระบุว่า KSL ได้รับปัจจัยบวกจากในปีนี้อุปทานน้ำตาลโลกจะขาดแคลนอีกครั้งราว 4 ล้านตัน จากที่เคยมีส่วนเกินกว่า 14 ล้านตันในปี 50/51 และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเงินบาทปีนี้คาดอ่อนตัวมาอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงผลบวกจากการที่รัฐยังตรึงราคาขายน้ำตาลในประเทศที่ 19-20 บาท/ก.ก.
*ปรับสัดส่วนขายเอทานอลในปท.เพิ่มเป็น 80%
นายชลัช กล่าวว่า ธุรกิจเอทานอลในปี 52 กลับมีความต้องการใช้จากในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในปีนี้บริษัทฯ จะปรับสัดส่วนการจำหน่ายเอทานอล โดยหันมาเน้นการจำหน่ายในประเทศให้มากขึ้นกว่าการส่งออกเป็น 80% จากที่เคยมีสัดส่วน 50:50 โดยตลาดส่งออกหลักยังคงเป็นประเทศสิงคโปร์
สาเหตุที่หันมาเน้นการจำหน่ายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากในช่วงหลายปีมานี้ผู้ใช้รถยนต์เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นว่าแก๊สโซฮอล์ไม่ได้ส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์ตามที่เป็นกังวล อีกทั้งราคาเบนซินกับแก๊สโซฮอล์มีส่วนต่างกันค่อนข้างมาก เป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้รถหันมาใช้แก๊สโซฮอล์แทนเบนซิน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนด้วย
"ปี 51 เราส่งออก(เอทานอล)เยอะ แต่ปีนี้เราคงขายในประเทศมากขึ้น ปีก่อนขายในประเทศแค่ 2 ล้านลิตร/เดือน เหลือส่งออก 1.5-2 ล้านลิตร/เดือน แต่ปีนี้คาดว่าขายในประเทศ 3 ล้านลิตร/เดือน คงเหลือส่งออกแค่ล้านกว่าลิตร/เดือน เราจะขายในประเทศประมาณ 80% ที่เหลือ 20% คงส่งออก เพราะตอนนี้ความต้องการใช้ในประเทศมีมากขึ้น นโยบายเรื่องแก๊สโซฮอล์ในประเทศต้องมาก่อน ถ้าในประเทศขาดก็แย่" นายชลัช กล่าว
KSL เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศมีส่วนแบ่งตลาดราว 8.5% ของตลาดรวม นอกจากนั้น ยังดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โรงงานผลิตเอทานอล,โรงไฟฟ้าและโครงการปุ๋ยด้วย โดยปัจจุบัน ถือเป็นบริษัทมี Market Capital รวมสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม