SPPT คาดปี 52 รายได้ลดลงจากปีก่อนจากผลศก.ทรุด-ลูกค้าชะลอออร์เดอร์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 8, 2009 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) หรือ SPPT คาดว่ารายได้ในปี 52 ปรับลดลงจากปีก่อนจากผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจโลกทำให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์) แต่บริษัทก็เชื่อว่าจะสามารถประคองกำไรสุทธิให้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อน ด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจที่จะมีการลดรายจ่าย และการยุบรวมหน่วยผลิตเพื่อลดต้นทุน ซึ่งขณะนี้ได้ตัดสินใจยุบโรงงานที่สิงห์บุรีไปรวมกับโรงงานที่อยุธยา

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าต่างประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งหากสามารถรับออร์เดอร์เพิ่มเข้ามาได้ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจ

นายสืบตระกูล บินเทพ ผู้จัดการทั่วไป SPPT เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า คาดรายได้ปี 52 คงจะไม่เติบโตหรืออาจลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่คาดว่าจะมีรายได้ 800-1,000 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้าชะลอออร์เดอร์ โดยในไตรมาส 1/52 เห็นสัญญาณการชะลอตัวของออร์เดอร์ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ในไตรมาส 1/52 ลดลงมากกว่า 40% สูงกว่าที่คาดไว้ว่าจะลดลงราว 20-30% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไตรมาส 3/52 ลูกค้าจะกลับมา โดยเฉพาะออร์เดอร์จากญี่ปุ่น พร้อมกันนั้น บริษัทยังพยายามเพิ่มลูกค้าใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากลูกค้าในประเทศที่อาจจะลดลง ถึงแม้จะเชื่อว่าฮาร์ดดิสก์ยังเป็นสินค้าที่ตลาดยังมีความต้องการใช้ค่อนข้างสูงอยู่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาลูกค้าทั้งยุโรป ออสเตรเลีย และอินเดีย เบื้องต้นการเจรจากับลูกค้าแถบยุโรปน่าจะได้รับออเดอร์ปีละ 10 ล้านบาท เป็นการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ในครัวเรือนเครื่องประกอบอาหาร

ขณะที่บริษัทพยายามลดสัดส่วนการผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสัดส่วนอยู่ 30% เนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าที่อิงกับกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่อาจได้รับผลกระทบมากจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่เหลือเป็นชิ้นส่วนอื่นๆ ที่จะขยายให้มากขึ้น

นายสืบตระกูล กล่าวว่า แม้ว่ารายได้ในปีนี้จะไม่เติบโต แต่ในด้านกำไรนั้นบริษัทจะพยายามรักษาไว้ให้ใกล้เคียงกับปี 51 ด้วยความพยายามลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการย้ายสายการผลิตของโรงงานที่อยุธยาไปรวมกับโรงงานที่สิงห์บุรี ซึ่งที่อยุธยามี 2 โรงงาน จะทำให้บริษัทลดภาระภาษีจากการใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) รวมทั้งโรงงานที่สิงห์บุรีก็จะใช้พื้นที่การผลิตการผลิตเต็ม 100% จากเดิมใช้อยู่เพียง 40%

"การที่เราย้ายเครื่องจักรจากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่งเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ทำให้เรามีต้นทุนน้อยลง แต่หากมีโปรเจ็คต์เพิ่มหรือมีลูกค้าใหม่ก็ว่ากันอีกที ในส่วนของลูกค้าญี่ปุ่นซึ่งเป็นลูกค้าหลักช่วงนี้ก็ชะลอเป็นปกติเป็นงวดบัญชีที่จะลดการสั่งซื้อ แต่ในช่วงเดือนเม.ย.ก็จะเห็นการกลับมาสั่งซื้อต่อได้ตามปกติ" นายสืบตระกูล กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ