บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บมจ. เอ็ม บี เค (MBK) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีศูนย์การค้าใจกลางเมืองที่เป็นที่รู้จักซึ่งมีการสัญจรของลูกค้าจำนวนมากและมีกระแสเงินสดที่แน่นอน ตลอดจนความสามารถในการระดมทุนโดยการให้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้าระยะยาว (เซ้ง) หลังจากที่บริษัทต่อสัญญาเช่ากับเจ้าของศูนย์การค้าแล้ว
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าที่บริษัทจะต้องจ่ายในอนาคตข้างหน้าซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากภายหลังจากที่สัญญาเดิมจะหมดอายุลงในปี 2556 และแผนการขยายธุรกิจในอนาคตในภาวะที่เศรษฐกิจอาจไม่เอื้ออำนวย ทั้งนี้ นอกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว นโยบายการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในกิจการที่มิใช่ธุรกิจหลักของบริษัทซึ่งต้องใช้เงินลงทุนและการกู้ยืมสูงยังเป็นประเด็นกังวลเพิ่มเติมด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัท เอ็ม บี เค จะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนจากศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ และแม้ว่าบริษัทจะมีรายจ่ายฝ่ายทุนที่ค่อนข้างสูงมากสำหรับแผนการขยายกิจการในระหว่างปี 2552-2553 แต่ก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนไม่ให้เกิน 50% ภายในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยอันดับเครดิตของบริษัทมีแนวโน้มถูกปรับลดลงหากบริษัทยังดำเนินนโยบายการลงทุนในกิจการที่มิใช่ธุรกิจหลักต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่าบริษัท เอ็ม บี เค ก่อตั้งในปี 2517 โดยปัจจุบันมี บริษัท ทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วนรวมกัน 21% บริษัทบริหารจัดการ “ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์" ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียงใจกลางกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังดำเนินธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และโรงสีข้าวด้วย แม้จะดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย แต่ผลประกอบการของบริษัทยังคงพึ่งพาศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เป็นหลัก
ทั้งนี้ ศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ และโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซสถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญของบริษัทซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่บนที่ดินเช่าใจกลางเมือง โดยในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้และกระแสเงินสดให้แก่บริษัทถึงประมาณ 45% และ 70% ตามลำดับ
เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของรายได้ บริษัทได้ขยายการลงทุนในธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้นโดยการซื้อกิจการ “ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์" ซึ่งตั้งอยู่รอบนอกพื้นที่กรุงเทพฯ และวางแผนพัฒนาศูนย์การค้าในรูปแบบคอมมิวนิตี้มอลล์ของตนเป็นแห่งแรกบนถนนพระราม 9 การลงทุนทั้ง 2 โครงการซึ่งควบคู่ไปกับการขยายตัวในธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ และการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมากซึ่งจะส่งผลให้อัตราการกู้ยืมของบริษัทเพิ่มขึ้นแม้ว่าในบางโครงการจะมีการหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงแล้วก็ตาม
ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ โดยมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงระดับ 5,800 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2550/2551 จากเดิมที่ 5,220 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2549/2550 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากบริษัทได้รับประโยชน์จากอัตราค่าเช่าจากสัญญาเช่าปัจจุบันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคงที่ในระดับ 36%-39% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงอย่างมากจาก 49% ในรอบปีบัญชี 2549/2550 เหลือ 12% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2551/2552 สืบเนื่องจากยอดเงินกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปีบัญชีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนกระแสเงินสดต่อภาระหนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากบริษัทมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปขยายกิจการทั้งในธุรกิจหลักและในธุรกิจรอง ซึ่งการลดลงของอัตราส่วนดังกล่าวเป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์ไว้และได้นำไปประกอบการพิจารณาอันดับเครดิตแล้ว
ล่าสุด ทริสเรทติ้งได้ปรับลดอันดับเครดิตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากผลของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยและความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ ซึ่งภาวะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ไม่เอื้ออำนวยในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมโดยตรงในอนาคตระยะใกล้จนถึงระยะปานกลาง ในส่วนของธุรกิจศูนย์การค้าที่แม้จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าก็ตาม แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถขึ้นราคาค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าได้
สำหรับธุรกิจของบริษัทนั้นจะต้องเผชิญกับความยากลำบากยิ่งกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากศูนย์การค้าและโรงแรมของบริษัทพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นสำคัญ และเนื่องจากการลงทุนในกิจการที่มิใช่ธุรกิจหลักที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตได้ จึงคาดว่าบริษัทจะมีความระมัดระวังในการลงทุนดังกล่าวมากขึ้น ในรอบปีบัญชี 2550/2551 บริษัทมีการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและให้กู้ยืมแก่กิจการที่มิใช่ธุรกิจหลักไปแล้วกว่า 1,500 ล้านบาทเมื่อเทียบกับเงินทุนที่ได้จากการดำเนินงานในระดับ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การใช้เงินลงทุนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงถึง 24% ของสินทรัพย์รวมสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายการลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่บริษัทไม่มีส่วนในการบริหารงานโดยตรงในสัดส่วนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนในกิจการที่มิใช่ธุรกิจหลักในสัดส่วนที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพเครดิตของบริษัทในระยะสั้นได้