AOT ชง"สุวรรณภูมิเฟส 2"ให้คมนาคมสัปดาห์หน้า แม้ IRR ลดจากผลปิดสนามบิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 9, 2009 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สวัสดีผล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT)หรือ ทอท.และประธานคณะทำงานชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลกระทบให้ผลตอบแทนการลงทุนโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงินประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาทมีแนวโน้มลดลง แต่จะลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลง

อย่างไรก็ตาม ทอท.ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการ เพราะปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับการใช้งานแล้วประมาณ 90% ขณะที่โครงการนี้จะต้องดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 ดังนั้น ปัจจุบันถือว่าการดำเนินโครงการล่าช้าแล้ว และในอนาคตอาจประสบปัญหาความแออัดในการใช้งาน หรือมีปัญหาเที่ยวบินล่าช้า

นายสมชัย กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้า ทอท.จะสามารถส่งเรื่องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อยืนยันแผนการดำเนินโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ให้ครม.พิจารณาอนุมัติ ส่วนแผนการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3 นั้น ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ต้องรอให้คณะกรรมการ ทอท.พิจารณาก่อน

ทั้งนี้ แผนงานโครงการดังกล่าวจะมีการขยายรันเวย์เส้นที่ 3 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าจะได้รับประโยชน์ค่อนข้างมาก เพราะไม่ต้องเสียเวลาขับเครื่องบินระยะไกลเพื่อรอทำการบินที่รันเวย์เดิม แต่สามารถใช้งานรันเวย์เส้นที่ 3 ซึ่งระยะทางจะใกล้กว่า ขณะเดียวกันรันเวย์เส้นที่ 3 จะช่วยลดปัญหาผลกระทบด้านเสียงกับประชาชนได้บางส่วน เพราะการใช้งานรันเวย์เดิมลดลง

นายสมชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการใช้งานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า จากการที่ชาวบ้านนัดชุมนุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 18 ม.ค.นี้ คงต้องขอร้องประชาชนใช้การประชุมคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาแก้ปัญหาผลกระทบด้านเสียงจากการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะประชุมวันที่ 14 ม.ค.นี้ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของ ทอท. แทนการชุมนุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทอท.ต้องดำเนินการตามขั้นตอนทำให้อาจมีปัญหาความล่าช้า ไม่ทันใจประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่ง ทอท.พร้อมยอมรับผิดชอบหากความล่าช้าเกิดจากการกระทำของ ทอท.โดยตรง แต่ในทางปฏิบัตินั้น ขั้นตอนการทำงานยังต้องมีหน่วยงานอื่นเข้าเกี่ยวข้อง เช่น ขณะนี้ ทอท.ต้องรอการอนุมัติงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนจากครม. อีกจำนวน 11,233 ล้านบาท ซึ่งเกิดความล่าช้าจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยหากได้รับอนุมัติก็จะสามารถเร่งดำเนินการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างของประชาชนที่ประเมินราคาทรัพย์สินไว้แล้ว 101 หลังคาเรือนได้ภายในปีงบประมาณ 52

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ ทอท.จะจ่ายเงินชดเชยให้เจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารไปดำเนินการปรับปรุงอาคารเอง จำนวน 41 อาคาร คิดเป็นเงินประมาณ 9.9 ล้านบาท รวมทั้งจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือวัดลาดกระบังที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงอีกประมาณ 16.8 ล้านบาท ขณะที่ผ่านมาได้จ่ายเงินชดเชยไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 576.557 ล้านบาท

สำหรับจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงที่ ทอท.จะให้ความช่วยเหลือนั้น แบ่งเป็น สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแนวเส้นเสียงมากกว่า 40 NEF จำนวน 640 หลังคาเรือน และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแนวเส้นทางระหว่าง 30-40 NEF จำนวน 15,283 หลังคาเรือน โดยหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ เช่น สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแนวเส้นเสียงมากกว่า 40 NEF จะรับซื้อหรือปรับปรุง ขณะที่สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแนวเส้นทาง 30-40 NEF จะปรับปรุงแต่ไม่รับซื้อ

ส่วนหลักเกณฑ์การประเมินราคาที่ดินนั้น ทอท.ได้เทียบเคียงแนวทางการกำหนดค่าความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 21 วรรคท้ายแห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินตามราคาตลาด ซึ่งจะต้องทำการประเมินราคาที่ดินแต่ละแปลงตามลักษณะเฉพาะของที่ดินแปลงนั้นๆ เนื่องจากที่ดินแต่ละแปลงแม้ว่าจะอยู่ใกล้กัน แต่อาจมีความลักษณะเฉพาะของที่ดินแตกต่างกัน เช่น การถมที่ดิน ขนาดและระยะห่างจากถนน รูปแปลงที่ดิน รวมถึงระบบสาธารณูปโภค



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ