CIMB ลั่นวางฐานธุรกิจแบงก์ในไทยผ่าน BT พร้อมใส่เงินเพิ่มทุนเอง 5-6 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 12, 2009 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ประธานบริหาร กลุ่มซีไอเอ็มบี(CIMB)เปิดเผยว่า กลุ่มจะใช้โอกาสที่หลายคนมองว่าช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจโลกเดินหน้าสร้างฐานความมั่นคงทางธุรกิจในระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศไทยที่ล่าสุดได้เข้าซื้อกิจการธนาคารไทยธนาคาร(BT) ซึ่งจะมีการเพิ่มทุนอีกราว 5-6 พันล้านบาท ก็จะเห็นความชัดเจนราวสิ้นเดือน มี.ค.นี้

"ตอนนนี้ทุกประเทศจะประสบปัญหาคล้ายๆ กัน เป็นปีที่ยากมากในทุกประเทศ แต่ในไทยเป็นโอกาสที่เราจะสร้างฐานและความเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับสำหรับระยะยาว"ประธานกลุ่ม CIMB กล่าว

สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ CIMB ในประเทศไทยผ่าน BT จะเข้าถือหุ้นมากกว่า 90% ที่สำคัญคือจะไม่ถอนหุ้น BT ออกจากตลาดหลักทรัพย์ แม้อาจจะมีปัญหากฎเกณฑ์เรื่องฟรีโฟลทก็ตาม กลุ่ม CIMB มีจุดประสงค์ที่จะแข่งขันในธุรกิจการเงินกับทุกธนาคารที่มีอยู่ในไทย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ อย่างธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รวมไปถึงธนาคารขนาดกลางและเล็ก

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนผู้บริหารของไทยธนาคารที่ขณะนี้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการยังว่างอยู่นั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นเดือน มี.ค.นี้ และคาดว่าจะเลือกผู้บริหารที่เป็นคนไทย และอาจจะมีการเปลี่ยนชื่อธนาคารไทยธนาคารในอนาคตด้วย

"ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้น หลังจากนี้อาจจะมีอีก ส่วนชื่อธนาคารใหม่ของไทยธนาคาร อีก 2-3 เดือนจะสรุปแต่ก็จะมีแบรนด์ CIMB และสัญลักษณ์ของกลุ่มอยู่ในชื่อใหม่ด้วยแน่นอน และจะใช้เวลา 1-2 ปีแรกหลังการปรับเปลี่ยนสร้างฐานการเติบโต ประมาณปี ค.ศ.2011-2012 เราจะมุ่งการเติบโต"ประธานบริหารกลุ่ม CIMB กล่าว

ประธานบริหาร กลุ่ม CIMB ยังกล่าวอีกว่า ไม่กังวลเรื่องวัฒนธรรมการทำงานระหว่างพนักงานของ 2 ประเทศ เนื่องจากกลุ่มได้ข้ามาทำธุรกิจในไทยมามากกว่า 2 ปีแล้ว ทำให้เข้าใจรูปแบบและสไตล์การทำงานของคนไทย ซึ่งไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดความเลื่อมล้ำในการทำงาน

"เรายืนยันว่าใครที่ขยันขันแข็งก็จะได้อยู่ทำงานร่วมกับเราต่อ แต่ใครที่ทำงานน้อยก็ไม่รับประกันว่าจะได้ทำงานต่อหรือไม่ ซึ่งปลายเดือนมีนานี้ก็จะได้รู้กัน"

ส่วนบริการธุรกรรมทางการเงินบางอย่างที่ยังไม่ได้นำมาใช้กับธุรกิจในประเทศไทย เช่น ธนาคารอิสลาม (Islamic Banking) หรือแม้แต่เครื่องรับฝากเงินด้วยเหรียญที่เชื่อว่าหากนำมาใช้ในประเทศไทยจะต้องประสบความสำเร็จอย่างมากนั้น ประธานกลุ่ม ซีไอเอ็มบี กล่าวว่า จะนำไปศึกษาความเป็นไปได้

ปัจจุบัน กลุ่ม CIMB มีธุรกิจอยู่ใน 9 ประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง ไทย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา บรูไน และ บาห์เรน จำนวนลูกค้ามากกว่า 10 ล้านราย จากสาขามากกว่า 1 พันสาขา มีมาร์เก็ตแคปประมาณ 6 พันล้านเหรีญสหรัฐฯ

กลุ่ม CIMB ลงทุนในประเทศไทยแล้ว 578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(20.53 พันล้านบาท) และล่าสุดทางกลุ่มเพิ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ หุ้นของไทยธนาคารจากผู้ถือหุ้นรายย่อยแล้วและจะมีการเปิดเผยในปลายเดือน มี.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ