KBANK เร่งปั๊มรายได้ค่าธรรมเนียม SMEวางเป้าโต 40%ทดแทนรายได้ดอกเบี้ยหด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 13, 2009 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารจะเน้นการหารายได้จากค่าธรรมเนียมในกลุ่มลูกค้า SME ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 700,000 รายทั่วประเทศเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าเติบโต 40% จากปีก่อนที่โต 20% เพื่อทดแทนรายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะชะลอลงในปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตเพียง1.5-2.5%

ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อประเภทนี้ที่ 8-10% ลดลงจากปีก่อนที่โต 16% หรือมียอดสินเชื่อใหม่ที่ 300,000 กว่าล้านบาท แต่ยังเป็นการเติบโตที่สวนทางกลับเป้าหมายของธนาคารแห่งอื่น ซึ่งบางแห่งว่างเป้าในปีนี้ไว้ต่ำมาก

"การเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากสัดส่วนลูกค้า75% ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคาร โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน และบัญชีธนาคารอยู่แล้ว และยังมีโอกาสที่จะขยับมาเป็นลูกค้าทางด้านสินเชื่อธนาคารอีกด้วย" นายปกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่ม SME สร้างรายได้แก่ธนาคารในสัดส่วน 20-30% ของรายได้กลุ่ม SME ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ธนาคารยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ SME เช่นเดียวกับที่ผ่านมา และคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้าและธุรกิจแต่ละประเภท เพื่อปิดความเสี่ยงการเกิดหนี้เสีย(NPL)ขณะเดียวกันยังให้หน่วยติดตามคุณภาพหนี้ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาเข้ามาดูแลลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะเป็นประโยชน์อย่างมาก

ธนาคารมีแนวคิดว่า หากลูกค้าเริ่มมีปัญหาชำระหนี้ช้า 1 วัน แล้วธนาคารเข้าไปดูแลรวดเร็วสัดส่วนลูกหนี้ 50% จะไม่เป็น NPL ส่วนลูกค้า NPL ในสัดส่วน 50% สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ส่งผลให้สัดส่วน NPL ลูกค้ากลุ่มนี้ในปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าระดับ 3% ของหนี้รวม หรือมี NPL สุทธิที่ 1.5%

“ธุรกิจเอสเอ็มอีมีมีความยืดหยุ่นต่อการปรับตัวรองรับแรงกระแทกของเศรษฐกิจได้ เพราะมีกำไรต่อต้นทุนสูง เทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวรน้อย และยังกระจายในหลายอุตสาหกรรม ประกอบกับยังได้รับผลประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ดังนั้นยังมีโอกาสที่ธนาคารจะสามารถขยายสินเชื่อได้อีกมาก" นายปกรณ์ ระบุ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ