บมจ.ทีทีแอนด์ที (TT&T)ระบุว่าการโหวตเลือกผู้ทำแผนวันนี้ เป็นข่าวดีของบริษัท แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่าผลออกมาเป็นอย่างไรเพราะต้องการจะแจ้งตลาดหลักทรัพย์ทราบอย่างเป็นทางการก่อน หลังจากนี้ ต้องรอศาลล้มละลายจะมีคำสั่งตามกฎหมายอีกครั้ง
"รอบริษัทแจ้งตลาดดีกว่าอย่างให้ออกมาเป็นทางการ วันนี้ก็มีคนโหวตทั้งสองฝ่าย ก็น่าจะป็นข่าวดี บอกได้แค่นี้"นายกรวุฒิ ชิวปรีชา ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและการงบประมาณ TT&T กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อนึ่ง ในการประชุมเจ้าหนี้ของบริษัทเพื่อโหวตเลือกผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ หากทางเจ้าหนี้มีคะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ของมูลหนี้ทั้งหมดประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทจะทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ได้เสนอไว้ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการบริษัท
นายกรวุฒิ กล่าวว่า หลังจากนี้คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถจัดทำแผนฟื้นฟูฯ
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารออมสิน เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัท จากทั้งหมดที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ และเฮจด์ฟันด์ อยู่กว่า 30 กว่าราย หากรวมเจ้าหนี้การค้ารวมเป็น 700-800 ราย
นายกรวุฒิ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทเกิดหนี้จำนวนมหาศาลมาจากการลงทุนโครงข่ายทั่วประเทศจำนวนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และบริษัทต้องจ่ายค่าตอบแทนของสัญญาสัมปทานถึง 41.1% ให้กับ บมจ.ทีโอที โดยจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2561 (ปีค.ศ. 2018)
"การทำแผนฟื้นฟูคงไม่นำเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานเข้าไป เพราะเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ไม่ใช่เป็๋นสิ่งที่เราควบคุมได้...แผน(ฟื้นฟูกิจการ) ที่ทำก็คงจะทำไปจนถึงสิ้นสุดอายุสัมปทาน เพราะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทมีปัญหาทางการเงิน ฉะนั้น ระยะเวลาฟื้นตัวของบริษัทก็ต้องใช้ระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม ต้องรอจัดทำแผนฟื้นฟูก่อนจึงจะประเมินได้ว่าบริษัทจะสามารถกลับมามีกำไรได้เมื่อไร" นายกรวุฒิ กล่ว
สำหรับผลประกอบการในปี 51 คาดว่ายังขาดทุนอยู่แต่จะลดลงจากปีก่อน และปี 52 ก็ยังขาดทุนลดลงจากปี 51 เช่นกัน ส่วนด้านรายได้ในปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่องจากธุรกิจบรอดแบรนด์ที่คาดว่าจะทำรายได้สัดส่วนมากกว่า 50% โดยตั้งเป้าลูกค้าบรอดแบรนด์มากกว่า 5 แสนรายจากสิ้นปี 51 ที่ 3.5 แสนราย และธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน ที่มีลูกค้าอยู่ 1.2 ล้านรายที่ทรงตัวในระดับนี้มาพอสมควร โดยคาดว่าจะรักษารายได้ต่อเลขหมายต่อเดือน(ARPU)ไว้ที่ระดับใกล้ 300 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อน
"ปี 51 ยังขาดทุนอยู่น้อยลงจากปี 50 ส่วนปี 52 ก็ยังพลิกเป็นกำไรไม่ได้ ซึ่งคาดว่าคงนานกว่าจะพลิกกลับมาเป็นกำไร เพราะเรามีต้นทุน Consession (สัญญาสัมปทาน) เป็นต้นทุนที่สูง"นายกรวุฒิ กล่าว
อนึ่ง งบการเงิน ณ สิ้นก.ย.51 บริษัทมีผลขาดทุนสะสมอยู่ 22,990.60 ล้านบาท
โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท (เมื่อ 5 มี.ค.51) ได้แก่ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ถือ 24.99% บมจ. ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) 7.92% และ บริษัท จัสมิน ซับมารีน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (บ.ย๋อยของ JAS) 4.36%