ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กแรงซื้อเก็งกำไรหนุนดาวโจนส์ปิดบวก 12.35 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 16, 2009 06:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (15 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรหลังจากดัชนีดิ่งลงอย่างหนักเมื่อวันก่อน อันเป็นผลมาจากมุมมองในด้านบวกที่ว่ารัฐาลสหรัฐจะใช้มาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเงินภายในประเทศ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 12.35 จุด หรือ 0.15% แตะที่ 8,212.49 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 1.12 จุด หรือ 0.13% แตะที่ 843.74 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 22.20 จุด หรือ 1.49% แตะที่ 1,511.84 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.65 พันล้านหุ้น เมื่อเทียบกับวันพุธที่ 1.42 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 8 ต่อ 7

โจว ซาลุซซี นักวิเคราะห์จากเธมิส เทรดดิ้ง แอลแอลซี กล่าวว่า นักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรเพราะมั่นใจว่ารัฐบาลสหรัฐจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเงินควบคู่ไปกับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากนายราห์ม เอ็มมานูเอล หัวหน้าคณะทำงานของบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐกล่าวว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐที่กำลังอยู่ในระหว่างหารือกันในสภาคองเกรสจะมีมูลค่าสูงถึง 8.50 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะรวมถึงวงเงินที่ใช้ในมาตรการปรับลดภาษีมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์

โอบามา ซึ่งจะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. กำลังเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติมาตรการดังกล่าวเพื่อใช้เป็นกฏหมายโดยเร็ว และเตือนว่าหากรัฐบาลยังนิ่งนอนใจ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยื้ดเยื้อยาวนานและถลำลึกลงอีก

อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงซบเซาเนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงวิตกกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจจากเฟดทั้ง 12 เขต ว่า เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มต้นศักราชปี 2552 ถดถอยลงอย่างหนัก ซึ่งส่งผลให้ชาวอเมริกันวิตกกังวล อีกทั้งฉุดยอดค้าปลีกร่วงลงและบีบให้ภาคอุตสาหกรรมปรับลดกำลังการผลิตถ้วนหน้า

"ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเกือบทุกภูมิภาคของสหรัฐถดถอยลงอย่างชัดเจนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะซบเซาต่อเนื่องในปีนี้ โดยเฉพาะตัวเลขตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) ประจำเดือนธ.ค.ปี 2551 ที่ร่วงลง 524,000 ตำแหน่ง ทำให้ตัวเลขว่างงานโดยรวมตลอดปี 2551 พุ่งขึ้นเป็น 2.6 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี" รายงานของเฟดระบุ

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจาก พอล มิลเลอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัท ไฟรด์แมน บิลลิงส์ แรมซีย์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า แบงค์ ออฟ อเมริกา จำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มอีกเพื่อชดเชยการขาดทุนจากเงินกู้หนี้สูญที่พุ่งสูงขึ้น และคาดว่าราคาหุ้นของแบงค์ ออฟ อเมริกา อาจร่วงลงแตะระดับ 9 ดอลาร์ ซึ่งการคาดการณ์ของมิลเลอร์มีขึ้นหลังจากราคาหุ้นของแบงค์ ออฟ อเมริกา ร่วงลงแตะระดับ 14.11 ดอลลาร์ โดยมิลเลอร์ได้ลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้นแบงค์ ออฟ อเมริกา ลงสู่ระดับ “underperform"

เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐในแง่สินทรัพย์ ออกแถลงการณ์ว่า ธนาคารมีกำไร 702 ล้านดอลลาร์ หรือ 7 เซนต์ต่อหุ้น ในไตรมาส 4 ของปี 2551 เปรียบเทียบกับระดับ 2.97 พันล้านดอลลาร์ หรือ 86 เซนต์/หุ้น ในปีก่อนหน้า ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่า ผลกำไรของธนาคารน่าจะหดลงมาเหลือแค่หุ้นละ 1 เซนต์

ทั้งนี้ หุ้นเจพีมอร์แกนปิดลบ 6.1% หุ้นแบงค์ ออฟ อเมริกา ปิดลบ 18% หุ้นซิตี้กรุ๊ปปิดร่วง 15% และหุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ปิดร่วง 5.4%

ส่วนหุ้นแอปเปิ้ลร่วงลง 2.3% หลังจากสตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอของแอปเปิ้ล ยื่นใบลาป่วยจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า จ็อบส์อาจจะไม่สามารถคุมบังเหียนแอปเปิ้ลที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 และเป็นตัวตั้งตัวตีในการยกเครื่ององค์กรแอปเปิ้ลในปี 2540 จนทำให้ผลิตภัณฑ์ iPod และ iPhone ของแอปเปิ้ลเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ