โบรกฯแนะ"ซื้อ"หุ้นแบงก์ใหญ่ ฐานทุน-สำรองไว้สูง แม้ปี 52สินเชื่อชะลอตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 16, 2009 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์แนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เน้นแบงก์ขนาดใหญ่ อย่าง ธ.กรุงเทพ(BBL) ธ.ไทยพาณิชย์(SCB) และ ธ.กสิกรไทย(KBANK) เนื่องจากธนาคารเหล่านี้มีฐานทุนแข็งแกร่ง มีการตั้งสำรองสูงเพื่อพร้อมรับมือกับการกลับมาของ NPL แม้ว่าในปีนี้ผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ลดลงจากปีก่อนและการขยายสินเชื่อหดตัวจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ระบุให้ทยอยสะสมเมื่อดัชนีหุ้นไทย(SET Index)ต่ำกว่า 400 จุด และควรเล่นเป็นรอบๆจะได้กำไรคุ้มกว่าถือยาว

ราคาเป้าหมายของ 5 ธนาคาร

              บล.ทิสโก้      บล.กิมเอ็ง      บล.ฟิลลิป    บล.กสิกรไทย
BBL            78.00         80.00         98.00      80.00
SCB            58.00         60.00         69.00      63.00
KBANK          50.00         60.00         66.00        -
KTB             4.30          4.80          5.70       4.30
BAY             7.30         12.00         14.00      11.60

นายปรเมศร์ ทองบัว ผู้อำนวยการสำนักวิจัย บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ในปี 52 ธนาคารพาณิชย์คงจะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ คาดว่าสินเชื่อทั้งระบบจะโตประมาณ 1% และปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)เริ่มจะปรากฎขึ้นมาในไตรมาส 1-2 ของปีนี้ หรือทยอยเข้ามาในช่วงครึ่งแรกของปี และมาร์จิ้นของธนาคารพาณิชย์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยคาดว่าจะลดลง 0.15% จากปีก่อน จากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในปีนี้

"ภาพแบงก์ปีนี้เทียบกับปีที่แล้วไม่ดีอยู่แล้ว เพราะปีนี้เศรษฐกิจโตได้ดี และปีนี้เชื่อว่าทุกแบงก์ก็จะระมัดระวัง"นายปรเมศร์ กล่าว

ในแง่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะเติบโตได้ 2-3% ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กคงแข่งขันลำบาก เพราะมีต้นทุนที่สูงกว่า

"การเข้าลงทุนหุ้นในกลุ่มแบงก์ คิดว่าน่าจะรอได้ การเล่นหุ้นกลุ่มแบงก์ปีนี้น่าเล่นเป็นรอบมากกว่า คือตอนนี้อาจจะยังซื้อไม่ได้ ต้องถ้าดัชนีลงไปสัก 400 , 380 จุด ก็น่าจะกลับมาน่าสนใจอีกรอบหนึ่ง"นายปรเมศร์ กล่าว

ทั้งนี้ บล.ทิสโก้ เลือก SCB เป็นหุ้น top pick ในกลุ่ม เพราะฐานเงินทุนดีกว่าแบงก์อื่น และปีที่แล้วสินเชื่อโตน้อยกว่าแบงก์อื่น โดยเติบโตประมาณ 4% ทำให้แนวโน้มการกลับมาของ NPL ก็จะไม่มาก

รองลงมา คือ BBL ที่มีฐานเงินทุนค่อนข้างดี และการสำรองหนี้ถือว่าดีที่สุดจึงสามารถรองรับ NPL ที่มีแนวโน้มกลับเข้ามาในปีนี้, KBANK มีจุดเด่นที่ลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีโอกาสการให้บริการได้หลากหลาย และมีรายรับจากค่าธรรมเนียมสูง คาดว่าปีนี้ก็ยังเติบโตต่อเนื่อง

ส่วน KTB ก็ยังแนะ"ซื้อ"แต่ก็มีความเสี่ยงในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ขณะที่ BAY แนะ"ขาย"มองว่าความสามารถทำกำไรยังไม่ดี

ส่วน น.ส.ศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)มองว่า ในปี 52 การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์จะชะลอตัวจากปีก่อน และมาร์จิ้นก็จะเติบโตลดลง เพราะจากการแข่งขันทางธุรกิจทำให้ต้นทุนสูง และ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยลดลง รวมทั้งสำรองหนี้คาดว่าจะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาก็จะมีแนวโน้มให้เกิด NPL สูงขึ้นได้ ฉะนั้น คาดว่าธนาคารพาณิชย์คงจะหารายได้จากค่าธรรมเนียมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ากำไรของกลุ่มแบงก์ในปี 52 จะลดลง 5% (สมมติฐานที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 1.5-2.5%) โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะได้เปรียบการทำธุรกิจ รวมทั้งธนาคารที่มีฐานทุนที่แข็งแกร่งและตั้งสำรองไว้สูงแล้ว ก็จะดีกว่า

ทั้งนี้ มอง Top Pick เป็นหุ้นแบงก์ใหญ่ ได้แก่ BBL , SCB และ KBANK มองว่าการตั้งสำรองค่อนข้างสูง และมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง

น.ส.ศศิกร กล่าวว่า มีแนวโน้มที่ปรับลดราคาเป้าหมายทั้งกลุ่มแบงก์ใหม่ หลังจากเห็นงบไตรมาส 4/51 และงบทั้งปี 51 แต่อย่างไรก็ดียังคงแนะนำซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์ ยกเว้นธนาคารไทยธนาคาร(BT) และธนาคารสินเอเชีย(ACL)

"ถ้าเข้าซื้อลงทุน ก็เข้าไปได้ตอน Index ต่ำกว่า 400 จุดก็เข้าเริ่มสะสม แต่ปีนี้เรามองภาพรวม SET Index ไม่ได้ขึ้นมาก มอง SET Index ที่ประมาณ 550 คือถ้าเล่น ก็เล่นเป็นรอบๆ ตรงนั้นอาจจะทำกำไรได้มากกว่า ปีนี้มองว่าหุ้นสวิงได้ถึง 200 จุด แต่ถ้าเล่นแบบ active จะคุ้มกว่าซื้อแล้วทิ้งไว้"น.ส.ศศิกร กล่าว

ด้าน บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ระบุ จากแนวโน้มสินเชื่อปี 52 ที่คาดว่าจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับ NIM ที่คาดจะปรับตัวลดลง ในระยะสั้นมีมุมมองเป็น"ลบ"สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และมองว่าในช่วงเวลาปัจจุบันยังไม่มีประเด็นการลงทุนที่น่าสนใจ

แต่อย่างไรก็ดีธนาคารพาณิชย์บางแห่งยังมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง จึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในลักษณะ“ซื้อเมื่ออ่อนตัว" ในหุ้นอย่าง BAY, BBL, KBANK และ SCB โดยมองว่า BBL, KBANK และ SCB เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ในขณะที่ BAY มีโอกาสเติบโตที่สูงในธุรกิจธนาคารรายย่อย รวมถึงการเติบโตด้วยการเข้าซื้อกิจการอื่น(Inorganic growth)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ