(เพิ่มเติม1) กพช.ให้ชะลอปรับขึ้นราคา LPG-NGV/บรรเทาผลกระทบเลิกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 16, 2009 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ให้ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) และก๊าซธรรมชาติ(NGV)ในช่วงนี้ออกไปก่อน เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนมีภาระเพิ่มขึ้นท่ามกลางปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ

ส่วนภาระหนี้ที่รัฐบาลจะต้องจ่ายชดเชยให้กับ บมจ.ปตท.(PTT) 8 พันล้านบาท ในการนำเข้าก๊าซ LPG ในราคาสูงมาจำหน่ายในประเทศราคาต่ำในช่วงที่ผ่านมานั้น รัฐบาลคงต้องขอเลื่อนการชำระคืนออกไปด้วย โดยจะมีการหารือกับปตท.ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาใช้จ่ายชดเชยดังกล่าว

ขณะที่การนำเข้าก๊าซ LPG ในช่วงต่อจากนี้คาดว่าจะปริมาณนำเข้าเฉลี่ย 3.3 หมื่นตัน/เดือน ซึ่งในเดือน ม.ค.ปตท.ต้องนำเข้า LPG ครั้งแรกจำนวน 6 หมื่นตัน

นพ.วรรณรัตน์ เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุม กพช.ยังมีมติเห็นชอบการลดผลกระทบต่อประชาชนจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หลังสิ้นสุดนโยบาย"6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน"ให้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ บรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตในวันที่ 1 ก.พ.52 โดยการปรับลดอัตราเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตราหนึ่ง เพื่อให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาท/ลิตร

หลังจากนั้นทยอยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาท/ลิตร โดยคาดว่าจะมีการปรับประมาณ 3-4 ครั้ง ในช่วงเวลา 2 เดือน ซึ่งมอบหมายให้ กบง. ดำเนินการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ โดยพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ น้อยที่สุด ซึ่งคาดว่าประมาณ 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กพช.ยังมีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) พ.ศ. 2551—2564 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยมีการปรับปรุงค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศตามการประมาณการณ์ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 52 ของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)จากเดิม 4.5% เหลือ 2% โดยรักษากำลังการผลิตสำรองในระดับ 15-20%

และเพื่อให้มีการจัดทำแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าสอดคล้องกับการประมาณการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีการพิจารณาปรับเลื่อนโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ IPP ออกไป ในขณะที่เร่งรัดการลงทุนตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ให้เร็วขึ้นและเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 104,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2552-2556 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดหนี้สาธารณะจากการลงทุนของ กฟผ. รวมทั้งทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงของระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ IPP ที่จะเลื่อนออกไป คือ โครงการของบริษัท Siam Energy และ โครงการบริษัท Power Generation Supply ที่แต่เดิมตามแผนคือ ปี 2555-2556 โดยจะเลื่อนเป็น 2556-2557

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ การเลื่อนซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว 5 โครงการ จากเดิมปี 2556-2557 ไปเป็นปี 2557-2558 ได้แก่ โครงการน้ำงึม 3, โครงการหงสา, โครงการน้ำเงี๊ยบ, โครงการน้ำอู และโครงการน้ำเทิน 1

ในช่วงปี 2552-2564 จะมีโครงการด้านการผลิตไฟฟ้าที่ กฟผ. ได้ดำเนินการเองจำนวน 15,768.7 เมกะวัตต์ การซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่จำนวน 7,600 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กจำนวน 1,985.5 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 5,036.6 เมกะวัตต์ รวมเงินลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของประเทศเป็นเงินทั้งสิ้น 1,647,984 ล้านบาท หรือลดลงจากแผนเดิมได้ 459,550 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ