บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ(ROJANA)คาดหวังโรงงานยาสูบซื้อที่ดินนิคมฯของบริษัทที่ จ.อยุธยา จำนวนกว่า 200 ไร่ คาดสรุปไม่เกินครึ่งแรกปี 52 ขณะที่บริษัทตั้งเป้าขายที่ดินทั้งปีราว 300-400 ไร่ ต่ำกว่าปีก่อนที่ขายได้ 600 ไร่ จากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยประเมินนักลงทุนต่างชาติเข้ามาน้อยกว่าปีก่อน ขณะที่ลูกค้าญี่ปุ่นบางรายกลับมาดูพื้นที่อีกรอบสานต่อโครงการเดิม
น.ส.อมรา เจริญกิจวัฒนกุล กรรมการ ROJANA กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า เท่าที่ทราบขณะนี้มีผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม 2 ราย ที่พร้อมเข้าเสนอขายซื้อที่ดินให้กับโรงงานยาสูบ ได้แก่ ROJANA ซึ่งมีนิคมฯที่ จ.อยูธยา และ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน(HEMRAJ)ที่มีนิคมฯ อยู่ใน จ.ระยอง
สำหรับพื้นที่ที่โรงงานยาสูบต้องการซื้อมีจำนวนประมาณ 200 กว่าไร่ แยกเป็นส่วนโรงงาน และที่อยู่อาศัย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินครึ่งแรกปีนี้ หรืออย่างช้าภายในปี 52 อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปขึ้นกับโรงงานยาสูบซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ แม้ว่าจะมีการกำหนดยื่นซองประมูลการซื้อที่ดินในวันที่ 6 ก.พ.นี้ เนื่องจาก โครงการนี้ได้เคยชะลอไปเมื่อปีที่แล้ว
"ถ้าใครอยู่ในสเปกก็มีโอกาสที่จะได้ทั้งแพ็กเกจ รอบหลังสุด เข้าใจว่ามีทางเรากับเหมราช แต่เราเชื่อว่าทางโซนอยุธยาน่าจะมีความได้เปรียบ"น.ส.อมรา กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทประมูลการซื้อที่ดินของโรงงานยาสูบก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการขายที่ดินปี 52 ที่คาดไว้ที่ 300-400 ไร่ เพราะเป้าหมายที่วางไว้ยังเป็นภาพที่มองภาวะยังไม่ชัดเจน คงต้องรอสักระยะหนึ่งเพื่อติดตามภาวะต่าง ๆ ทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงินเยน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงข่าวร้ายในตลาดว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก เพราะในภาวะอย่างนี้ทุกคนก็ต้องระมัดระวังการลงทุน
"ยังมองภาพรวมยังไม่ชัด ก็คงต้องรอสักระยะหนึ่ง ถ้าเทียบกับปีที่แล้วยอดขายที่ดินน้อยกว่าแน่นอน แต่ตอนนี้เพิ่งต้นปี...ปีนี้เชื่อได้ว่าปีนี้ทุกคนก็ต้องพยายามไม่ ตั้ง Target อะไรเยอะแยะ ต้องยอมรับว่าเป็นปีมหาโหด คือทุกคนก็ต้องพยายามให้ survive ได้ เตรียมพร้อมเพื่อที่จะรุกเมื่อสถานการณ์พร้อม"น.ส.อมรา กล่าว
กรรมการ ROJANA กล่าวว่า ลูกค้าในปีนี้จะมาจากโรงงานอุตสาหกรรมของคนไทย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม และยังมีลูกค้าจากญี่ปุ่นบางรายที่เคยชะลอการลงทุนไปเมื่อปีที่แล้วก็กลับเข้ามาดู โดยปีนี้มองว่าลูกค้าจะมาจากอุตสาหกรรมหลากหลาย ส่วนใหญ่ที่จะเข้ามาติดต่อจะเป็นลูกค้าใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่การขายที่ดินกับนักลงทุนต่างประเทศจะลดน้อยลงกว่าปีที่แล้ว โดยในปี 51 บริษัทมีสัดส่วนการขายที่ดินให้กับนักลงทุนต่างชาติราว 50% ของยอดขายที่ดิน 600 ไร่ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับรายได้จากบริการด้านสาธารณูปโภคได้รับผลกระทบยอดการใช้ลดลงบ้าง แต่ ณ วันนี้ จะลดลงมากน้อยอย่างไร ยังไม่ชัดเจน เชื่อว่ายังประคองตัวไปได้ แต่รายได้จากส่วนนี้อาจลดลงบ้างแม้ว่าไม่มากจนน่ากังวล