กทช.คาดได้ข้อสรุปรูปแบบ-จัดสรรคลื่นระบบ 3G ในก.พ.ก่อนเดินหน้ากลางปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 26, 2009 09:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐพร คูศริพิทักษ์ หนึ่งในคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)คาดว่า ภายในเดือน ก.พ.นี้ กทช.จะได้ข้อสรุปรูปแบบและการจัดสรรคลื่นความถี่ระบบ 3G และให้ดำเนินการได้ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ จึงจะให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยจะมีการประชุมเกี่ยวกับการจัดสารคลื่นความถี่ 3G และเรื่องที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.นี้

"ภายในเดือน ก.พ. เราคิดว่าต้องมีคำตัดสินให้ได้ว่าจะใช้รูปแบบใดและจัดสรรกันเท่าไร จากนี้ไปจะมีการประชุมจนกว่าได้คำตัดสินเกี่ยวกับเรื่อง 3G ให้ได้ว่าควรจะเดินต่อไปยังไง...เราตั้งใจว่าจ้างให้ที่ปรึกษาต่างชาติที่เขามีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเรา ประมาณ 45 วัน ถ้าสมมติลงมติให้ใช้วิธีประมูล ก็คิดว่าในเดือนพ.ค. หรือมิ.ย.ก็คงเปิดประมูลได้"นายเศรษฐพร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ การโหวตของ กทช.นั้นการลงมติต้องมีเสียงสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 4 เสียงขึ้นไปของทั้งหมดที่มี 6 เสียง

นายเศรษฐพร กล่าวว่า ปัจจุบันคลื่นความถี่ระบบ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ มีอยู่ 60 MHZ ซึ่งได้จัดสรรให้กับ บมจ.ทีโอทีไปแล้ว 15 MHZ ยังเหลืออีก 45 MHZ โดยที่ผานมาภายในคณะกรรมการ กทช.ได้หารือกันว่าอาจจะจัดสรรคลื่นความถี่ให้รายละ 5 MHZ หรือ 10 MHZ หรือ 15 MHZ

แต่ก็ต้องกำหนดอีกว่าควรจะจัดสรรคลื่นความถึ่ระบบ 3G ให้กับผู้ประกอบการกี่ราย หากจัดสรรให้ 3 ราย ก็จะได้รายละ 15 MHZ หรือหากจัดสารให้ 4 ราย ก็อาจจะให้ 10 MHZ กับ 3 ราย และอีกราย ได้ไป 15 MHZ

สำหรับรูปแบบการจัดสรรก็ต้องมาพิจารณากัน โดยทั่วโลกใช่ 5 วิธี เช่น วิธีใครมาก่อนได้ก่อน ซึ่งใช้กับคลื่นความถี่ที่มีอยู่มากกว่าความต้องการ หรือจับสลาก ก็อาจจะได้ผู้ประกอบการที่ไม่เหมาะสมหรือไม่มีความสามารถมาดำเนินการ

ยังมีวิธีการแบบ Beauty Contest มีหลักเกณฑ์กติกาและให้ยื่นข้อเสนอเหมือนประกวดราคา โดยมีการให้คะแนน แต่วิธีการนี้อาจถูกกลาวหาว่าไม่มีความโปร่งใส หรือเลือกปฎิบัติ

ส่วนวิธีประมูล เป็นวิธีที่ทั่วโลกส่วนใหญ่ใช้ เพราะมีความโปร่งใส ด้วยการประมูลผ่าน e-Auction ซึ่งกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้น โดยไม่มีการให้คะแนนจัดลำดับ หากผ่านเกณฑ์ทุกรายก็มีสิทธิยื่นซองประกวดราคาได้ ซึ่ง กทช.มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องตัดสินกันอีกครั้ง เพราะยังมีวิธีแบบผสม หรือ Hybrid โดยอาจจะใช้วิธีประมูล ผมผสานกับวิธีการแบบ Beauty Contest

หลังจากที่ กทช.ลงมติได้แล้ว ก็จะว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศที่มีประสบการณ์หรือเชี่ยวขาญมาช่วยดำเนินการก่อนจะจัดการประมูล โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 45 วัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่าน กทช.อนุมัติเป็นผู้ทำหน้าที่แทนกรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งเดิมเป็นผู้จัดสรรคลื่นความถี่ ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ปี 2543 ซึ่งต่อไปนี้ กทช.จะมีหน้าที่จัดทำแผน และจัดสรรคลื่นความถี่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ