บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP มูลค่ารวม 5 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 7 ปี ที่ระดับ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน ชำระคืนเงินกู้เดิม และเงินลงทุน
อันดับเครดิตสะท้อนถึง ความสำคัญของบริษัทที่มีต่อ บมจ. ปตท. หรือ ปตท. และลักษณะการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงระหว่างกัน จากการที่บริษัทเป็นโรงกลั่นหลักของ ปตท. ในการดำเนินธุรกิจการกลั่นน้ำมัน นอกจากนี้ยังรวมถึงการที่บริษัทดำเนินกิจการโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งมีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปชนิดที่มีมูลค่าสูงได้ในสัดส่วนที่สูงโดยมีต้นทุนการผลิตต่ำ
ขณะเดียวกัน การที่บริษัทมีการผลิตต่อเนื่องไปยังการผลิตพาราไซลีนและน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานยังเป็นการเพิ่มระดับการผลิตแบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์น้ำมันและลดความผันผวนของรายได้จากค่าการกลั่นน้ำมัน นอกจากนี้การเข้าไปดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะช่วยลดความผันผวนของรายได้จากธุรกิจการกลั่นน้ำมันได้บางส่วนเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะมีสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่ก็ตาม
อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท ฟิทช์คาดว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (adjusted net debt to EBITDAR) ในปี 2551 จะเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาน้ำมันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ได้ทำให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามซึ่งส่งผลให้หนี้สินสุทธิของบริษัทเพิ่มเป็น 44 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2551 จาก 28 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2550
ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าย้อนหลัง 12 เดือน (Last-Twelve-Month (LTM) adjusted net debt to EBITDAR) และ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน (LTM funds from operations adjusted net leverage) เพิ่มขึ้นเป็น 2.0 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2551 จาก 1.0 เท่าและ 1.1 เท่าตามลำดับ ณ สิ้นปี 2550
อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทน่าจะลดลงในปี 2552 และ 2553 เนื่องจากการลดลงของความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ค่าการกลั่น ตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลก และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นการจัดหาน้ำมันดิบเนื่องจากบริษัทยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบในสัดส่วนที่สูง
นอกจากนี้ธุรกิจการกลั่นน้ำมันและอะโรเมติกส์กำลังเผชิญกับช่วงวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมในช่วงปี 2552 ถึง 2553 โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตที่จะเข้ามาใหม่ในอุตสาหกรรม และความเป็นไปได้ที่ปริมาณความต้องการจะลดลงอย่างมาก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบที่จะบั่นทอนอุตสาหกรรมในช่วงวัฎจักรขาลง นอกจากนี้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการที่บริษัทมีฐานลูกค้าที่ไม่กระจายตัวมากพอ และมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว ประกอบกับการที่บริษัทต้องพึ่งพาตลาดเพียงตลาดเดียวเนื่องจากบริษัทขายผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในตลาดในประเทศ
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการที่บริษัทมีฐานลูกค้าที่ไม่กระจายตัวมากพอได้ถูกบรรเทาลงบางส่วนจากการที่ ปตท. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปรายใหญ่ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ในการจัดจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย และมีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งที่ระดับ ‘AAA(tha)’
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทเนื่องจากความได้เปรียบในด้านต้น ทุนการผลิต และนโยบายทางการเงินของบริษัทที่จะยังคงรักษาสัดส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ หากบริษัทไม่สามารถลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า ลงเหลือที่ระดับ 1 เท่าภายในปี 2553 หรือไม่สามารถรักษาระดับค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ย (ที่ไม่รวมผลกำไรขาดทุนจากสินค้าคงคลัง) ให้อยู่ที่ระดับ 3.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลหรือสูงกว่าได้ ในช่วง 18 ถึง 24 เดือนข้างหน้า จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท