โบรกฯหนุน"ซื้อ"SCB มองสินเชื่อยังโตแม้ศก.ทรุด-ควบคุมค่าใช้จ่ายดันกำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 29, 2009 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์สนับสนุนเข้า"ซื้อ"หุ้นธ.ไทยพาณิชย์ (SCB) เห็นว่ามีความโดดเด่นที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทั้งในด้านรายด้ที่คาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 5% ตามเป้าหมาย บนสมมติฐานจีดีพีโต 0-1.0% ซึ่งเน้นปล่อยกับลูกค้ารายใหญ่ และ ปัญหาการเพิ่มขึ้นของ NPL ไม่มีปัญหา ขณะที่ ความสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทำได้ดีกว่าธนาคารอื่น ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ในปีนี้คาดว่าทำได้ 3.8-3.9% รักษาได้ใกล้เคียงปีก่อน ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 52 แม้จะลดลงแต่ดีกว่าเมื่อเทียบกับแบงก์อื่น และมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ดี โบรกเกอร์บางรายแนะเข้าซื้อจังหวะที่ราคาอ่อนตัว ระดับ 45 บาท เพราะที่ผ่านมาราคาปรับขึ้นมามากแล้ว และให้ใจเย็นรอ เพราะภาวะตลาดยังคงผันผวนอยู่

ราคา SCB ปิดเช้านี้ที่ 55.00 บาท บวก 1.00 บาท(+1.85%) โดยราคาได้ปรับขึ้นไปสูงสุด 56.50 บาท เมื่อ 6 ม.ค.52

          โบรกเกอร์        คำแนะนำ       ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)

          บล.กรุงศรีอยุธยา     ซื้อ            70.00
          บล.ฟิลลิป           ซื้อ            70.00
          บล.เคจีไอ          ซื้อ            66.50
          บล.ยูไนเต็ด         ซื้อ            66.00
          บล.เกียรตินาคิน      ซื้อ            61.50
          บล.กิมเอ็ง          ซื้อ            60.00
          บล.ทิสโก้           ซื้อ            58.00

นายธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา มองว่า ธ.ไทยพาณิชย์ มีความโดดเด่นที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยเห็นว่า มีความสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน ขณะเดียวกัน คาดสินเชื่อปี 52 ขยายตัว 5% จากปีก่อน จากที่ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อโต 5-7% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารตั้งเป้าไว้ที่ 5.1% ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

ทั้งนี้ SCB ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนการเงินเพื่อรักษา NIM ที่ 3.9% แต่คาดว่าจะลดลงเหลือ 3.8% และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงเพื่อรักษา cost to income ratio ที่ 49% ขณะที่ธนาคารอื่นมี ratio สูง

แม้ว่าในปี 52 คาดว่า กำไรจะลดลง 6.3% เหลือ 2.1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปรับสมมติฐานค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้น 30% เป็น 6.5 พันล้านบาท แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์แข็งแรง เป็นจุดที่เรามองว่า SCB ค่อนข้างจะเด่น และ คาดว่า ROE ปี 52 มีแนวโน้มจะลดลงที่ 16% จาก 18% ในปี 51 แต่ยังเป็นระดับสูงที่สุดในกลุ่มธนาคาร

"หุ้น SCB ถือว่าเป็น top pick ของกลุ่ม ทั้งรายได้ก็โตได้ในส่วนของสินเชื่อ และเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ก็ควบคุมได้ดี "นาบธนัท กล่าว

ด้าน น.ส.สุกัญญา อุดมวรนันท์ นักวิเคราะห์ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) กล่าวว่า SCB ยังคงเป็นหุ้นที่น่าสนใจอยู่แล้วแต่เนื่องจากว่าราคาหุ้นได้ปรับขึ้นมามาก จึงไม่น่าจะรีบเข้าซื้อ แนะรอให้ราคาอ่อนตัวที่ระดับประมาณ 45.00 บาท ค่อยเป็นจังหวะเข้าซื้อ

เหตุผลหลักมาจากภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่า รวมทั้ง ภาวะตลาดหุ้นที่ยังคงผันผวน โดยในภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งคาดว่ายังคงลากยาวไป และจากการพูดคุยกับผุ้บริหารแบงก์ ก็คิดว่าเช่นนั้น ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้น้อย ส่วนภาวะตลาดหุ้นคงยังไม่ใช่ขาขึ้น

บทวิเคราะห์บล.ยูไนเต็ด ระบุว่า จากการเข้าพบผู้บริหาร SCB สรุปผลประกอบการปีที่ผ่านมา SCB สามารถทำกำไรเกินเป้า (ROE เป้า 17% ทำได้ 18%) แม้สินเชื่อโตเพียง 5.6% ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้สูงถึง 12-15% และ ปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อโตเพียง 5-7% ภายใต้สมมติฐาน GDP โต 0-1% แต่ยังคงตั้งเป้า ROE โตสูงถึง17% มองจะสามารถควบคุม Cost to Income Ratio ที่ระดับ 49% ได้เท่าปีก่อน

อย่างไรก็ดี มองวิกฤติเป็นโอกาส จากการที่ธนาคารต่างประเทศประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้คู่แข่งขันในการปล่อยกู้ลดลงไปมาก นอกจากนี้จากวิกฤตการณ์การเงินโลก ทำให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ต้องหันเข้ามาระดมทุนในประเทศ รวมถึงเข้ามาขอกู้กับธนาคารในประเทศ โดยธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรายใหญ่โตมากถึง 13% ส่วน SME และรายย่อย ไม่เน้น ตั้งเป้าโตเพียง 5% พร้อมหันมาเน้นคุณภาพของสินทรัพย์โดยมีการเฝ้าระวังลูกค้าที่ส่อเค้าว่าจะมีปัญหาและเข้าไปช่วยเหลือก่อนที่จะกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน SCB ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะมี NPL เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มองว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จะก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่มองว่าควบคุมได้ จึงยังคงตั้งเป้า Gross NPL (งบรวม) ที่ระดับ 5.1% เท่าปีก่อน ในภาวะเช่นนี้เชื่อว่าธนาคารที่มีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งจะปลอดภัยที่สุด ซึง SCB มีเงินกองทุน ณ สิ้นปี 2551 ที่สูงถึง 15.2%

"จากที่เราทำการวิเคราะห์ SCB มานาน พบว่าธนาคารสามารถทำตามเป้าหมายได้ตลอด ในปีนี้เราจึงทำประมาณการที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของ SCB โดยตั้งเป้าสินเชื่อโต 5% NIM ที่ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.8% และเชื่อว่าจะสามารถควบคุมค่าใข้จ่าย และทำให้ Cost to Income Ratio อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 49% ทำให้คาดว่า SCB จะมีกำไรสุทธิ 22,963 ล้านบาท EPS 6.76 บาท หรือมีกำไรโต จากปีก่อน 7% "

นอกจากนี้ คาดจ่ายเงินปันผลตอบแทนสำหรับงวดผลการดำเนินงานปีก่อนที่ 2.52 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ 4.7%



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ