นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.การบินไทย(THAI) เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ จะมีการเสนอแต่งตั้ง นายทนง พิทยะ ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดการบินไทยคนใหม่ว่า ในเรื่องนี้ทางสหภาพฯมองว่ายังเป็นแค่ข่าวลือ แต่ใครที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาก็อยากจะให้มีความจริงใจ และมีจริยธรรมความเป็นผู้นำที่จะเข้ามาดำเนินงาน โดยให้เน้นประโยชน์ส่วนรวม ไม่แอบแฝง
และที่สำคัญ ประธานบอร์ดและบอร์ดชุดใหม่จะต้องเป็นคนที่เข้าใจการบินไทย เพราะการบินไทยมีวัฒนธรรม และมีปัญหาเรื่อง คนที่ไม่เหมือนที่อื่น ดังนั้นบอร์ดจะต้องไม่แบ่งฝักฝ่าย ถ้าเอาการเมืองนำการบินไทยจะรุ่งก็ร่วงได้ ดังนั้นจึงอยากเห็นการบินไทยมีความเข้มแข็ง ไม่มีการเมืองนำ
"ในอดีตนายทนงก็เคยเป็นประธานบอร์ดการบินไทย และเคยมีการจัดทำแผนการซื้อเครื่องบิน และเปิดเส้นทางบินใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะการเปิดเที่ยวบินตรง เส้นทางบินกรุงเทพ-นิวยอร์ค แต่นายทนงก็อยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากต้องไปรับตำแหน่ง รมว.คลัง จึงทำให้แผนงานที่ทำไว้เดิมสะดุด และไม่สำเร็จ ซึ่งในเรื่องนี้จึงไม่โทษใคร ก็เลยประเมินไม่ได้ว่าหากท่านอยู่ครบเทอมจะทำตามแผนสำเร็จหรือไม่" นางแจ่มศรี กล่าว
นอกจากนั้นอยากเรียกร้องให้บอร์ดการบินไทยชุดใหม่พิจารณา ยกเลิกนโยบาย ตั๋วโดยสารฟรี ให้กับอดีตบอร์ดการบินไทยทั้งหมด สาเหตุเรียกร้องไม่ได้กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่เป็นเรื่องของจริยธรรมและความสำนึก รวมถึงอยากเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายที่ให้สิทธิบอร์ดและผู้บริหารสามารถเลื่อนระดับชั้นที่นั่ง(อัพเกรด)ได้ เช่น ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสารชั้นประหยัด แต่เลื่อนระดับไปนั่งชั้นธุรกิจ หรือชั้น 1 เหมือนกับจ่ายเงินสลึงแต่นั่งบาท ซึ่งในส่วนนี้ทำให้การบินไทยสูญเสียรายได้ไปกว่า 100 ล้านบาท/ปี
ส่วนนโยบายที่จะให้มีการปรับเพิ่มจำนวนที่นั่งชั้นธุรกิจ และชั้น 1 เพิ่มขึ้นในแต่ละเที่ยวบิน เนื่องจากเป็นชั้นที่ทำรายได้นั้น ในเรื่องนี้ ทางฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่าเมื่อเพิ่มแล้วจะสนองตอบลูกค้า แต่ไม่ใช่มาสนองตอบต่อตั๋วฟรี เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาพบว่า ในที่นั่งชั้น 1จะมีผู้โดยสารที่เสียเงินจริงประมาณ 1.7 คน/เที่ยวบิน โดยเส้นทางที่นิยมเลื่อนระดับชั้นคือ เส้นทางบิน ลอนดอน ,อเมริกา
นางแจ่มศรี กล่าวต่อว่า อยากเรียกร้องให้บอร์ดการบินไทยมีการทบทวนแผนการจ้างงานจากบริษัทภายนอก(เอ้าท์ซอร์ท) ใหม่ เนื่องจากบุคคลากรที่นำมาปฎิบัติงานในนามพนักงานการบินไทยนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ทำงานไม่เต็มที่ มีการรับเหมาช่วง ทำให้มีการฟ้องร้อง เรียกร้องค่าจ้าง ประกอบกับได้มีกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังบริษัทเหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันการบินไทยมีบริษัทภายนอกที่เข้ามารับงานกว่า 100 บริษัท โดยในส่วนของการจ้างงานจากภายนอกนี้ทำให้ การบินไทยสูญเสียรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท/ปี