ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (2 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจและภาคการธนาคาร รวมถึงตัวเลขจ้างงานที่คาดว่าจะร่วงลงอีก อย่างไรก็ตาม การดีดตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีช่วยพยุงดาวโจนส์ไว้ไม่ให้ติดลบมากนัก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 64.03 จุด หรือ 0.80% แตะที่ 7,936.83 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 0.44 จุด หรือ 0.05% แตะที่ 825.44 จุด และ ดัชนี Nasdaq ปิดบวก 18.01 จุด หรือ 1.22% แตะที่ 1,494.43 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.33 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 6 ต่อ 5 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้น Nasdaq มีอยู่ราว 2.03 พันล้านหุ้น
นักลงทุนตื่นตระหนกต่อข่าวการเลย์ออฟพนักงานในภาคเอกชน โดยล่าสุดมีรายงานว่าบริษัท เมซี ซึ่งทำธุรกิจห้างสรรพสินค้า วางแผนปลดพนักงานอีก 7,000 คน หรือประมาณ 4% ของตัวเลขจ้างงานในองค์กร และก่อนหน้านี้สตาร์บัคส์ประกาศปลดพนักงานเพิ่มอีก 6,700 คนและปิดสาขา 300 แห่ง หลังจากรายได้สุทธิของสตาร์บัคส์ทรุดตัวลง 69% เหลือเพียง 64.3 ล้านหุ้น หรือ 9 เซนต์/หุ้น
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอัตราว่างงานเดือนม.ค.ในสหรัฐจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี และคาดว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payroll) เดือนดังกล่าวจะร่วงลง 530,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นการร่วงลงติดต่อกันยาวนานถึง 13 เดือน เนื่องจากยอดขายที่ตกต่ำลงส่งผลให้บริษัทเอกชนแห่ลดการจ้างงาน
ขณะที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจะส่งผลให้ตัวเลขว่างงานเพิ่มขึ้นอีก 40 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ และจะทำให้อัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 7.1%
ILO กล่าวในรายงาน "Global Employment Trends" ว่า ตัวเลขว่างงานในปี 2552 จะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แต่จากการประเมินโดยรวมพบว่าตัวเลขว่างงานทั่วโลกภายในปลายปีนี้จะอยู่ในช่วง 210-230 ล้านคน ซึ่งมากกว่าในปี 2550 ที่ 179 ล้านคน และปี 2551 ที่ 190 ล้านคน
ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NBC เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มทรุดตัวลงอย่างหนักเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่จะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ทันทีที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร คณะทำงานของเขาจะเร่งปฏิรูปกฎข้อบังคับในตลาดการเงินทันที เพื่อยับยั้งเศรษฐกิจจากภาวะถดถอย
คีธ สปริงเกอร์ นักวิเคราะห์จากไฟแนนเชียล แอดไวซอรี เซอร์วิสเซส กล่าวว่า แม้ความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยและการเลย์ออฟในภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดตลอดทั้งวัน แต่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงได้รับแรงซื้อเข้าหนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยพยุงตลาดไว้ไม่ให้ติดลบมากนัก โดยหุ้นไมโครซอฟท์พุ่งขึ้น 5.7% และหุ้นอินเทล คอร์ป ดีดขึ้น 5.7%
ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงอย่างหนัก โดยหุ้นแบงค์ ออฟ อเมริกาดิ่งลง 8.8% และหุ้นเจพีมอร์แกนร่วงลง 1.3% ส่วนหุ้นเมซีร่วงลง 4%