ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 140 จุดเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) เพราะได้รับแรงหนุนจากตัวเลขการซื้อบ้านและผลประกอบการของบริษัทเอกชนบางแห่งที่เพิ่มขึ้นเกินความคาดหมายในสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากข่าวที่ว่าวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันเสนอแผนฟื้นฟูทางเลือกใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดพุ่ง 141.53 จุด หรือ 1.78% แตะ 8,078.36 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 13.07 จุด หรือ 1.58% แตะที่ 838.51 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 21.87 จุด หรือ 1.46% แตะ 1,516.30 จุด
ปริมาณซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.35 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 8 ต่อ 5 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.12 พันล้านหุ้น
อลัน เกล นักวิเคราะห์จากไรจ์เวิร์ธ อินเวสเมนท์กล่าวว่า บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กคึกคักขึ้นหลังจากสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติเปิดเผยว่า ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) พุ่งขึ้น 6.3% ในเดือนธ.ค. แตะที่ 87.7 ยูนิต ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค. และสะท้อนให้เห็นว่าผู้ซื้อได้กลับเข้าตลาดเพื่อฉวยประโยชน์จากราคาบ้านและอัตราดอกเบี้ยจำนองที่อยู่ในระดับต่ำ
นักลงทุนขานรับข่าวที่ว่า วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันเสนอแผนฟื้นฟูทางเลือกใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่สำนักงบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐ (CBO) เชื่อว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเสนอโดยวุฒิสภามูลค่า 8.85 แสนล้านดอลลาร์นั้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวรวดเร็วกว่าแผนฉบับสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุว่าวุฒิสภามีเป้าหมายที่จะอัดฉีดจำนวนเงินดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในสิ้นปีหน้า
CBO กล่าวว่า แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับของวุฒิสภาสหรัฐกำหนดให้นำเงินเกือบ 80% มาใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะสนับสนุนประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้ไปถึงเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในระยะเวลา 18 เดือน นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูฉบับดังกล่าวอาจช่วยลดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครตที่ตำหนิว่า แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจใช้เวลานานเกินไปกว่าจะเห็นผล
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่ดีเกินคาดของบริษัทบางแห่ง รวมถึงเมิร์ก แอนด์ โค และเชอริง พลาว ซึ่งเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังวิตกกังวลต่อผลประกอบการของบริษัทอีกหลายแห่งที่ย่ำแย่ โดยเมื่อวานนี้ โมโตโรล่า เปิดเผยว่า บริษัทขาดทุน 3.6 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.57 ดอลลาร์ต่อหุ้น ในไตรมาส 4 ปี 2551 เทียบกับกำไร 100 ล้านดอลลาร์ หรือ 5 เซนต์ต่อหุ้นในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายสำหรับการเสื่อมค่าความนิยมและการเพิ่มขึ้นของภาษีที่รอการตัดบัญชี
นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานเดือนม.ค.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอัตราว่างงานเดือนม.ค.จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี และคาดว่าตัวเลขจ้างงานเดือนม.ค.จะร่วงลง 530,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นการร่วงลงติดต่อกันยาวนานถึง 13 เดือน เนื่องจากยอดขายที่ตกต่ำลงส่งผลให้บริษัทเอกชนแห่ลดการจ้างงาน
ทั้งนี้ หุ้นเมิร์กพุ่งขึ้น 6.4% หุ้นเชอริง พลาว ดีดขึ้น 8.2% หุ้นดีอาร์ ฮอร์ตัน พุ่งขึ้น 21% และหุ้นยูพีเอส ทะยานขึ้น 6.1%
ส่วนหุ้นโมโตโรล่า ร่วงลง 11% หุ้นแบงค์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 12% และหุ้นพีเอ็นซี ไฟแนนเชียล ดิ่งลง 7.2%