ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง 121.70 จุด หลังสหรัฐเผยเอกชนลดจ้างงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 5, 2009 06:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเรื่องผลประกอบการของบริษัทเอกชน รวมถึงบริษัทผลิตอาหาร และตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงในเดือนม.ค.

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วง 121.70 จุด หรือ 1.51% แตะที่ 7,956.66 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 6.28 จุด หรือ 0.75% แตะที่ 832.23 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 1.25 จุด หรือ 0.08% แตะที่ 1,515.05 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.39 พันล้านหุ้น ลดลงเมื่อเทียบกับวันอังคารที่ 1.35 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 3 ต่อ 2

แจ็ค เอบลิน นักวิเคราะห์จากแฮร์ริส ไพรเวท แบงค์ กล่าวว่า ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กถูกปกคลุมด้วยความวิตกกังวลเรื่องผลประกอบการของบริษัทเอกชน รวมถึงบริษัท คราฟท์ ฟู๊ด, วอลท์ ดิสนีย์, ไทม์ วอร์เนอร์ และคอสท์โค โฮลเซล ซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่าแม้แต่บริษัทผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ที่เคยมีสถานะอันแข็งแกร่งแม้ในยามที่เศรษฐกิจซบเซานั้น ก็ไม่รอดพ้นจากการถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ตลาดได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากความกังวลเรื่องกระแสเลย์ออฟพนักงาน หลังจาก ADP Employer Services เปิดเผยว่า ภาคเอกชนในสหรัฐลดการจ้างงานลง 522,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. หลังจากลดลง 659,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ซึ่งการเปิดเผยของ ADP มีขึ้นก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานเดือนม.ค.ในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอัตราว่างงานเดือนม.ค.จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี และคาดว่าตัวเลขจ้างงานเดือนม.ค.จะร่วงลง 530,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นการร่วงลงติดต่อกันยาวนานถึง 13 เดือน เนื่องจากยอดขายที่ตกต่ำลงส่งผลให้บริษัทเอกชนแห่ลดการจ้างงาน

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการเดือนม.ค.อยู่ที่ 42.9 จุด เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.ที่ 40.1 จุด โดยดัชนีที่ระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวในภาคบริการ

ตัวเลขการใช้จ่ายที่ทรุดหนักเป็นประวัติการณ์ทำให้บรรดาผู้ค้าปลีกหลายแห่งต้องโละพนักงานหลายตำแหน่งไล่ตั้งแต่เมซีส์ (Macy’s Inc.) ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่อันดับสองของสหรัฐที่ประกาศลอยแพพนักงาน 7,000 ตำแหน่ง หรือ 3.9% ของพนักงานทั้งหมดเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย หลังจากที่ได้งัดกลยุทธ์หั่นราคาสินค้าเพื่อดึงดูดนักช้อปในช่วงวันหยุดที่เงียบเหงาที่สุดในรอบ 40 ปี

นักลงทุนส่วนใหญ่จับตาดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ครอบคลุมถึงนโยบาย "Buy American" (ซื้อสินค้าสหรัฐ) หลังจากประเทศคู่ค้าหลายแห่งของสหรัฐมองว่านโยบายดังกล่าวอาจทำให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากเนื้อหาของนโยบายกำหนดว่าสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และสินค้าสำเร็จรูปทั้งหมดที่ใช้ในโครงการที่ต้องกู้ยืมเงินจากนโยบายฉบับนี้ ต้องเป็นสินค้าที่ผลิตในสหรัฐเท่านั้น

แกรี่ ฮัฟเบอร์ และเจฟเฟอร์รี่ สก็อต นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันกล่าวว่า "ผลกระทบของนโยบาย Buy American ที่มีต่อความพันธ์ระหว่างประเทศจะบดบังข้อดีที่มีต่ออุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในสหรัฐ ผลการศึกษาของทางสถาบันบ่งชี้ว่า นโยบาย Buy American จะช่วยให้ปริมาณการผลิตเหล็กในสหรัฐเพิ่มขึ้นราว 500,000 เมตริกตัน ซึ่งหมายความว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 1,000 คน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐที่มีการจ้างงานโดยเฉลี่ย 140 ล้านคน"

ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ ABC News ว่า แม้เขาเห็นด้วยกับการตั้งข้อสังเกตที่ว่านโยบาย Buy American อาจส่งสัญญาณให้กับประเทศคู่ค้าเข้าใจว่าสหรัฐกำลังปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศตนเอง แต่การหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกเถียงกันในยามที่การค้าทั่วโลกซบเซาลงในขณะนี้ อาจกลายเป็นการส่งสัญญาณที่แย่กว่าเดิม

หุ้นคราฟท์ ฟู๊ด ร่วงลง 9.2% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรไตรมาส 4 ทรุดตัวลง 72% เนื่องจากรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โอเรโอ คุ๊กกี้ และกาแฟแม็กเวลล์ เฮาส์ ปรับตัวลดลง ขณะที่หุ้นไทม์ วอร์เนอร์ ร่วงลง 3.7% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4 ลดลง 32% หุ้นดิสนีย์ดิ่งลง 7.9% หุ้นคอสท์โคร่วงลง 6.8%

ส่วนหุ้นแบงค์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 11%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ