AIT เผยมี Backlog เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันลบ./จับมือ SIPAขยายตลาดอินโดจีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 10, 2009 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) เปิดเผยว่า บริษัทฯ รับทราบผลการชนะประมูลงานขนาดใหญ่หลายโครงการทั้งในส่วนของงานภาครัฐและเอกชนในช่วงต้นปี 52 ขณะเดียวกันก็ยังเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้ปัจจุบันมูลค่างานในมือ(Backlog)เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 1,800 ล้านบาท

“ตอนนี้บริษัทฯ มีออเดอร์เข้ามาค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นงานที่เราเข้าไปประมูลไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว และมารับรู้ผลในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์นี้ ทำให้มูลค่างานในมือของเราตอนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ใกล้ๆ ระดับ 1,800 ล้านบาทแล้ว ดังนั้น เป้าหมายรายได้ทั้งปีที่เรามองไว้ในระดับ 3,300 ล้านบาทจึงมีโอกาสเป็นไปได้สูง"นายศิริพงษ์ กล่าว

ส่วนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับรองผลประกอบการงวดปี 51 ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามเป้ารายได้ที่ระดับ 3,000 ล้านบาท และจะมีวาระในเรื่องการพิจารณาจ่ายเงินปันผลด้วย โดยบริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

นายศิริพงษ์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯ จะเดินหน้ารุกธุรกิจทุกเซ็กเม้นต์อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งขยายตลาดภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสอดรับกับการเติบโตและการลงทุนในอุตสาหกรรมไอซีทีปีนี้ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

“การลงทุนของลูกค้าในกลุ่มไอซีทีปีนี้จะมากกว่าปีที่ผ่านๆ มามาก โดยเฉพาะการลงทุนด้านสื่อสารโทรคมนาคม เช่น ระบบ 3G ระบบ Hi-Speed Broadband ระบบโครงข่าย IP CORE และ WIMAX และมองว่าหลังการลงทุนในระบบดังกล่าวแล้วจะเกิดการใช้งานที่หลากหลาย และสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจไอทีใหม่ๆอีกมากมายตามมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจด้าน ICT รวมถึง AIT ในระยะยาวอย่างแน่นอน" นายศิริพงษ์กล่าว

ส่วนฐานลูกค้าของบริษัทฯ ถึงแม้ในภาคเอกชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่ก็มีเพียง 20% ซึ่งจะถูกชดเชยโดยลูกค้าทางภาครัฐที่มองว่ายังมีโอกาสในการขยายฐานลูกค้าในส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกได้ เช่น ในส่วนของงานราชการ กระทรวง ทบวง กรม ที่ปัจจุบันหลายหน่วยงานยังมีงบประมาณในการที่จะพัฒนาระบบไอทีอีกมาก

ขณะที่ช่องทางการตลาดในปีนี้บริษัทฯ จะเริ่มขยายตลาดไปในต่างประเทศโดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(SIPA)ในการพัฒนาและหาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน เนื่องจากการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยในปัจจุบันยังมีการเติบโตไม่มากนัก จึงถือเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ