แหล่งข่าวฝ่ายบริหารจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่า จะสามารถเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ได้ราวกลางปี 52 โดยระหว่างนี้รอ ครม.อนุมัติวงเงินลงทุนในโครงการนี้ที่จะเป็นส่วนงานโยธาและตัวรถไฟฟ้าเป็นเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท
และเชื่อว่าองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)พร้อมอนุมัติให้หลัง ครม.เห็นชอบ เพราะได้ศึกษาโครงการนี้เสร็จนานแล้วในสมัยรัฐบาลที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และคาดว่าขั้นตอนในการดำเนินการประกวดราคาคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปี อย่างเร็วที่สุด หรือกลางปี 53 น่าจะผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการนี้
"ถัดจากนี้ไม่เกิน 2 เดือนน่าจะประมูลได้แล้ว แต่ขั้นตอนที่ญี่ปุ่นบอกไว้เลยว่าไม่สั้น ทั้งหมดกินเวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ตั้งแต่ได้ผู้ผ่านคุณสมบัติ short list แล้วส่งให้เขา approve กินเวลาเดือนกว่า เสร็จแล้วก็ต้องดำเนินการต่อหลังอนุมัติซองเทคนิคก็ใช้เวลาอีก 2 เดือน เปิดซองราคาเสร็จแล้วก็รอให้เขา approve อีกก็กินเวลา 2 เดือน ไม่นับรวมกระบวนการที่เราจะเปิดขายซอง และเปิดให้เขายื่นซอง ก็สรุปแล้วใช้เวลาเป็นปี กว่าจะได้ตัวก็ปีหน้า เร็วที่สุด" แหล่งข่าว กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ งานโยธาและระบบไฟฟ้า คิดเป็นวงเงิน ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และตัวรถไฟฟ้าจำนวน 80 ตู้ เป็นเงินประมาณ 6 พันล้านบาท รวมแล้วประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท โดยทั้งโครงการวงเงินลงทุนทั้งหมดเป็นเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมตัวสถานีกลางบางซื่อ ได้ปรับลดลงจากวงเงินเดิมที่ 8 หมื่นล้านบาท
ส่วนที่รัฐบาลได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 6.3 หมื่นล้านเยน ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ระบุไว้ หลังจากการเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นเมื่อ 5-7 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น แหล่งข่าว กล่าวว่า เงินส่วนนี้จะนำไปสร้างเป็นสถานีกลางบางซื่อ
"พอเขาอนุมัติเงินกู้ เราก็มาดำเนินการ จัดซื้อจัดจ้างตามเกณฑ์ของเขา เบื้องต้นเขาให้ 6.3 หมื่นล้านเยน ก็ยังมีส่วนเหลือก็จะมาจาก JICA แต่จะอนุมัติได้ก็ต่อเมื่อการรถไฟฯทำเรื่องซื้อรถไฟฟ้าเข้าไปเสนอ ครม.ด้วยตามเกณฑ์ของเขา ถึงให้เงินกู้ส่วนที่เหลือ ซึ่งเงินจำนวนนี้ผ่านบอร์ดไปแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ในเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์) ของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ได้กำหนดชัดเจนว่าผู้รับเหมาไม่ต้องทำหน้าที่รื้อย้ายผู้บุกรุก หรือเวนคืนที่ดิน และทาง JICA กำหนดให้ รฟท.เป็นผู้ทำหน้าที่ เพราะมีเวลาในการดำเนินการ ซึ่งอาจจะใช้วิธีจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ แต่ไม่ให้นำเงื่อนไขนี้เข้าไปในทีโออาร์ โดยปัจจุบันได้จัดทำทีโออาร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว