บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP)เน้นกลยุทธ์ทั้งรุกและรับไปพร้อมกันในปี 52 ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกดดัน ระบุช่วงวิกฤติเห็นโอกาสเข้าซื้อกิจการ(M&A)ในย่านเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโซนเป้าหมาย แต่ขอรอดูจังหวะเหมาะเพื่อให้มั่นใจว่าได้โครงการใหม่ที่ดีที่พร้อมผลิตและสร้างรายได้ให้บริษัทได้เร็ว หวังปูทางไปสู่เป้าหมายระยะยาวในปี 63 มีปริมาณการผลิตและขายที่ 9 แสนบาร์เรล/วัน
แม้ว่าในระยะ 5 ปีนี้(ปี 52-56)ปริมาณการผลิตและขายได้ปรับลดลงมาเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 6% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่เคยตั้งไว้เติบโตปีละ 10% แต่บริษัทต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการให้ได้ตามแผน และวาดหวังว่าจะทำสำเร็จในก้าวแรกเป้าหมายระยะกลางในปี 56 มีปริมาณการผลิตและขายที่ 4 แสนบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.35 แสนบาร์เรล/วันในปีนี้
ขณะเดียวกันบริษัทจะหันมาเน้นการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะจัดลำดับความสำคัญในโครงการระยะสำรวจ 23 โครงการ เพื่อไม่ให้เงินจมลงไปและเผชิญความเสี่ยงไปกับโครงการเหล่านี้ เพราะส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาสำรวจถึง 3-4 ปีกว่าจะรู้ผล แต่ในอีกไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้าจะรู้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมเบื้องต้นในโครงการที่อิหร่าน
*มองจังหวะเหมาะซื้อกิจการเพิ่ม เล็งออกหุ้นกู้-ตั๋ว B/E เสริมสภาพคล่อง
นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมองหาโอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมเพื่อทำให้สามารถเติบโตได้เร็วกว่าการลงทุนตั้งธุรกิจใหม่ด้วยตัวเองตั้งแต่แรกเริ่มซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน
"ปีนี้ก็มองว่าภาวะเศรษฐกิจก็มีผลกระทบกับเรา แต่ถ้าในช่วงวิกฤติถ้าเราบอกว่าเราไม่ทำอะไรเมื่อเวลาเศรษฐกิจฟื้นตัวเราก็จะช้ากว่าคนอื่น...เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอด ต้องเตรียมสภาพคล่องไว้อยู่ตลอด ไม่ใช่พอเห็นโอกาสแล้วค่อยวิ่งไปหาเงิน ในช่วงวิกฤตเป็นโอกาสที่มีสินทรัพย์ดีๆ ออกมาขาย ก็มีเข้ามาเรื่อยๆ ที่เราทำงานอยู่ เพราะเราได้วางเป้าหมายไว้อยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้ก็มีเสนอเข้ามาแล้ว"นายอนนต์ กล่าว
PTTEP ยืนยันความตั้งใจที่ปลายทางในปี 63 จะมีปริมาณการผลิตและขายเฉลี่ยที่ 9 แสนบาร์เรล/วัน โดยระหว่างกลางทางหรือแผนระยะกลางในปี 56 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตและขายเฉลี่ยที่ 4 แสนบาร์เรล/วัน ดังนั้น โครงการหรือแหล่งปิโตรเลียมที่บริษัทมีอยู่จากนี้ก็จะมีทั้งจากที่บริษัทเริ่มลงทุนเองซึ่งจะมีไม่มาก และแหล่งที่บริษัทซื้อมา แต่จะเข้าซื้ออย่างระมัดระวัง เพื่อผลักดันให้การเติบโตในระยะยาวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
"ในโครงการที่บริษัททำอยู่ เห็นว่า บางส่วนเราคงโตเองไม่ได้ ทำมากก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ต้องประมาณตน เพราะเรารู้ว่าสภาพคล่องเป็นยังไง ขีดความสามารถของบริษัท ฉะนั้นโครงการของบริษัทก็จะมีส่วนหนึ่งที่บริษัทเริ่มสำรวจและขุดเจาะเอง หรือโตตามธรรมาชาติ เป็นโครงการต้องใช้เวลา กับอีกส่วนหนึ่งโครงการก็จะมาจากการซื้อกิจการ"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP กล่าว
บริษัทเตรียมจะออกหุ้นกู้ในเดือนมี.ค.นี้ ที่ยังเหลือวงเงินอยู่ 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนโครงการใหม่ๆ และเสริมสภาพคล่องด้วย โดยขณะนี้ยังประเมินตัวเลขกันอยู่ว่าจะออกจำนวนเท่าใดและดูสถานการณ์ตลาดด้วย ขณะเดียวกันอัตราส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.17 เท่า ซึ่งแสดงว่าบริษัทยังมีความสามารถกู้ได้อีกพอสมควร
ประกอบกับบริษัทยังมีวงเงินออกตั๋วเงินระยะสั้น(B/E)เหลืออีกประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทจากปีก่อนที่ออกไปแล้ว 3 พันล้านบาท โดยปีนี้จะออกตั๋ว B/E อย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไปเพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง
"สภาพคล่องของเราขึ้นอยุ่กับราคาน้ำมัน ถ้าราคาน้ำมันโลก บวกลบ 50 เหรียญ เราก็สบายๆ แต่ถ้าราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญ เราก็ฝืดเคือง คือถ้าเราไม่หวังเรื่องขยายกิจการหรือการเข้าซื้อกิจการ บริษัทไม่ได้เดือดร้อน แต่ละโครงการที่มีอยู่ก็เดินได้ด้วยตัวเองเลี้ยงตัวเองได้"นายอนนต์ กล่าว
*คาดปีนี้ใช้งบลงทุนต่ำกว่าเป้าหลังต้นทุนลด แต่ยังไม่รวมซื้อกิจการใหม่
บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 52-56)จำนวน 4.18 แสนล้านบาท โดยกำหนดแผนงานในปี 52 ใช้งบลงทุนราว 9.7 หมื่นล้านบาท ไม่รวมโครงการที่จะเข้าซื้อกิจการใหม่
นายอนนต์ คาดว่า งบลงทุนปีนี้อาจจะใช้ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้เพราะในช่วงที่จัดทำแผนนั้น ราคาวัสดุก่อสร้างหรือต้นทุนก่อสร้างราคายังสูง แต่ขณะนี้ปรับลงมาบ้างแล้ว โดยโครงการหลักที่ลงทุนได้แก่ โครงการเวียดนาม 16-1 โครงการ M9 และ โครงการที่อัลจีเรีย
ปัจจุบัน PTTEP มีโครงการทั้งหมด 43 โครงการ ใน 14 ประเทศ โดยโครงการที่อยู่ในระยะสำรวจมี 23 โครงการซึ่งในปีนี้ก็จะมาจัดลำดับความสำคัญเพื่อบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และโครงการล่าสุดที่บริษัทเข้าซื้อกิจการจาก บริษัท Coogee Resources Limited(CRL)ในออสเตรเลีย
ทั้งนี้ โครงการในอิหร่านที่บริษัทลงทุน 100% คาดว่าในอีก 2 เดือน น่าจะได้ผลสำรวจเบื้องต้น หลังจากต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีในการพัฒนา ซึ่งโครงการมีโอกาสสูงพบน้ำมัน และขณะนี้บังไม่มีความจำเป็นต้องหาพาร์ทเนอร์ เพราะเป็นโครงการสำรวจบนบกซึ่งบริษัทมีความถนัดและไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก
ขณะที่แหล่ง M9 คาดว่าไม่เกิน 2 เดือนจากนี้หรือภายในครึ่งแรกปี 52 จะเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซกับ บมจ.ปตท.(PTT)ได้ โดยมีปริมาณผลิตวันละ 100 กว่าล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะเริ่มผลิตในปี 56
*รายได้ปี 52 คาดได้ไม่เกิน 1.3 แสนลบ.
นายอนนค์ กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีนี้(ปี 52-56)บริษัทปรับลดเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยลงเหลือปีละ 6% จากที่เคยตั้งเป้าในระดับ 10% ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะภาพรวมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปี 52 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตและขายที่ 2.35 แสนบาร์เรล/วัน บนสมมติฐานที่ความต้องการใช้ก๊าซไม่เติบโต แต่ขณะนี้เท่าที่ติดตามก็เห็นแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซติดลบ 2-3% แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกับบริษัทมาก
ส่วนผลประกอบการปีนี้อ่อนตัวตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงโดยประเมินเฉลี่ยทั้งปีที่ 50 เหรียญ/บาร์เรล จากปีก่อนที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ 90 เหรียญ/บาร์เรล ถึงแม้ปริมาณขายจะเพิ่มขึ้นราว 7% แต่รายได้คาดว่าจะไม่มากไปกว่าปี 51 ประเมินเบื้องต้นจะมีรายได้จากการขายไม่เกิน 1.3 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่มี 1.33 แสนล้านบาท
ในแง่ปริมาณการผลิตและขายเชื่อมั่นว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย แม้โครงการอาทิตย์เหนือจะล่าช้าออกไปจากเดือนม.ค.มาเริ่มผลิตในเดือนมี.ค.52 แต่ก็ยังมีรายได้จากโครงการอาทิตย์ และโครงการเวียดนาม 9-2 ที่ได้เข้ามาเต็มปี
และยังมีโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย บี 17 ที่จะเข้ามาในปลายปี 52 รวมทั้งแหล่งน้ำมันใน CRL ขณะนี้ผลิตได้ 4-5 พันบาร์เรล/วัน และอีกแหล่งในโครงการ Montara ซึ่งจะพัฒนาต่อคาดว่าในไตรมาส 4/52 จะผลิตน้ำมันได้ปริมาณ 3 หมื่นบาร์เรล/วัน ซึ่งตรงนี้มองว่าเป็นส่วนที่เพิ่มจากแผน
ขณะที่ บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งมีสัญญาซื้อขายก๊าซนั้นในปีที่ผ่านมาได้ซื้อก๊าซส่วนเกินจากสัญญา และปีนี้คาดว่าจะซื้อก๊าซลดลงกว่าสัญญา ซึ่งตรงนี้บริษัทจะเจรจากับ PTT ให้ชะลอการรับซื้อก๊าซลดลงออกไป
ดังนั้น รายได้ปี 52 ไม่น่าจะเกิน 1.3 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลงมากว่าครึ่ง โดยในไตรมาส 1/52 ปริมาณผลิตและขายยังต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ และราคาขายก็อ่อนตัวตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนก๊าซราคาขายไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันทัน โดยราคายังสูงต่อเนื่องทั้งปีไม่ได้แตกต่างจากปีก่อน
"ในช่วงปลายปีที่แล้วเริ่มมีสัญญาณความต้องการก๊าซอ่อนตัวลง แต่ตอนนี้ดูแนวโน้มตอนนี้ติดลบ 2-3% จากที่เราประเมินไว้ในแผนว่าจะ zero growth เราคิดว่าไม่น่าจะกระทบกับเรามากนัก...เรายังมี upside ที่มีโอกาสสูงจะได้น้ำมันเพิ่มจาก CRL"นายอนนต์ กล่าว
ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตจากก๊าซมีสัดส่วน 70% และจากน้ำมัน 30%
นายอนนต์ กล่าวว่า ในปี 51 ถือว่ารายได้และกำไรทำสถิติสูงสุดถือเป็น Record year โดยรายได้จากการขายอยู่ที่ 1.33 แสนล้านบาท เป็นสัดส่วนรายได้จากน้ำมันถึง 60% และก๊าซ 40% แม้ว่าจะปริมาณการผลิตต่ำกว่าเป้ามาที่เฉลี่ย 2.19 แสนบาร์เรล/วัน จากเป้าหมายที่ 2.23 แสนบาร์เรล/วันก็ตาม เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 90 เหรียญ/บาร์เรล แต่ปีนี้คาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ 50 เหรียญ/บาร์เรล
ณ สิ้นปี 51 บริษัทมีปริมาณสำรองพิสูจน์แล้ว รวมทุกโครงการประมาณ 944 ล้านบาร์เรล และปี 52 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 51 โดยมาจาก CRL น่าจะปริมาณสำรองเพิ่มอีกอย่างน้อย 30 ล้านบาร์เรล/วัน