BECL คาดกำไรสุทธิปี 52 ดีกว่าปีก่อน รายได้โต 5.4% แม้ปริมาณจราจรทรงตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 13, 2009 08:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ(BECL)คาดว่ากำไรสุทธิปี 52 จะดีกว่าปี 51 เนื่องจากภาระดอกเบี้ยของบริษัทลดลงอย่างน้อย 60 ล้านบาท จากการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่รายได้คาดว่าจะเติบโต 5.42% จากปีก่อนที่รายได้ลดลง 4% เป็นผลจากรายได้ที่เกิดจากการปรับขึ้นค่าผ่านทาง 5 บาทที่จะเข้ามาเต็มปีในปีนี้หลังประกาศขึ้นไปเมื่อก.ย. 51

"ตัวรายได้ดีขึ้น รายจ่ายก็ลดลง ในปี 52 เราน่าจะเห็นผลลัพธ์ หรือ bottom line จะดีขึ้น ถ้าไม่มีอะไรพลิกผัน" นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BECL กล่าว

ปัจจุบันบริษัทมีเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้สถาบัน 1.3 หมื่นล้านบาท จ่ายอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ MLR-2% โดยปัจจุบัน MLR ปรับลง 0.5% มาที่ 6.5% จาก 7.0% และมีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะลดลงอีก 1% จะช่วยให้บริษัทลดภาระดอกเบี้ยได้ 130 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีก 1.2 หมื่นล้านบาทมาจากการออกหุ้นกู้

ขณะที่ปริมาณการจราจรในปีนี้คาดว่าจะไม่เติบโตหรือทรงตัว เฉลี่ยที่ 9.20 แสนคันต่อวัน จากปีก่อนที่มีปริมาณจราจรเฉลี่ยที่ 9.24 แสนคันต่อวัน ปัจจัยหลักมาจากผลการปรับขึ้นค่าผ่านทาง ทำให้ผู้ใช้ผ่านทางชะลอการใช้ ซึ่งตามปกติที่ปรับขึ้นค่าผ่านทางจะมีผู้ใช้ลดลงในช่วงปีแรก แต่ก็ยังกังวลว่าหากภาวะเศรษฐกิจไม่เติบโตและมีคนว่างงานมากขึ้นก็อาจส่งผลกระทบกับบริษัทเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าแม้จะมีภาวะราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น แต่คงจะไม่สูงมากเหมือนปีก่อน และหากรัฐบาลเริ่มเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้(บางพลี-สุขสวัสดิ์)ที่คาดว่าจะเริ่มเก็บปลาย มี.ค.นี้ จะทำให้มีปริมาณจราจรที่เคยหายไป 4 หมื่นคันต่อวันจากปีก่อนกลับเข้ามาสู่ระบบประมาณ 1.2-1.5 หมื่นคัน/วัน ซึ่งก็จะเพิ่มรายได้มาส่วนหนึ่ง

"ปีนี้รายได้ทั้งปีน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 350 ล้านบาทขึ้น หรือน่าจะขึ้นมาวันละ 1 ล้านบาท ซึ่งปีนี้เราหวังว่าจะมีรายได้ 20 ล้านต่อวัน" กรรมการผู้จัดการ BECL กล่าว

ในเดือน ม.ค.52 ปริมาณการจราจรเริ่มฟื้นตัวจากเดือน ธ.ค.51 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปริมาณการจราจรลดลง 2.65% มาที่ 9.16 แสนคันต่อวัน ส่วนรายได้เพิ่มขึ้น 6.7% เป็น 20 ล้านบาทต่อวัน จากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 19 ล้านบาทต่อวัน บริษัทก็พอใจ เพราะให้ความสำคัญกับรายได้มากกว่า

สำหรับผลประกอบการปี 51 ยอมรับว่ารายได้ลดลงราว 4% จากปี 50 ที่มีรายได้ 7.2 พันล้านบาท เนื่องจากปริมาณการจราจรลดลง 6.07% มาอยู่ที่ 9.24 แสนคันต่อวัน แต่กำไรสุทธิปี 51 จะดีกว่าปี 50 เป็นผลจากภาระค่าใช้จ่ายลดลง โดยเฉพาะค่าปรับการจ่ายคืนเงินกู้ล่วงหน้าในปีที่แล้วเหลือ 40 ล้านบาท จากการคืนเงินกู้ 2 พันล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าปี 50 ที่ต้องจ่ายค่าปรับ 220 ล้านบาทจากการจ่ายคืนเงินกู้ 7.5 พันล้านบาท

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลในงวดปี 51 ได้มากกว่าปี 50 ที่จ่ายในอัตรา 1.10 บาทต่อหุ้น โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจรณาอุนมัติในวันที่ 25 ก.พ.นี้ หลังจากที่บริษัทจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 0.50 บาทต่อหุ้น และที่ผ่านมาบริษัทจ่ายเงินปันผล 50%ของกำไรสุทธิ สูงกว่านโยบายการจ่ายเงินปันผลที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

"ธุรกิจของ BECL ไม่ได้มุ่งหวังกำไรสูงสุด จึงไม่มีความหวือหวา ดังนั้นผู้ถือหุ้นของบริษัทก็จะเป็นผู้ถือหุ้นระยะยาวที่คาดหวังผลตอบแทนที่มั่นคง ก็คือการจ่ายเงินปันผล ในปี 51 การจ่ายปันผลจะโตไปตามกำไรสุทธิที่คาดว่าจะสูงกว่าปี 51" นางพเยาว์ กล่าว

*เตรียมพร้อมสภาพคล่องไว้ 1 พันลบ.

นางพเยาว์ กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมสภาพคล่องสำหรับปีนี้ไว้แล้ว 1 พันล้านบาท จากการออกหุ้นกู้ 4 พันล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทนำไปชำระคืนเงินกู้ 2 พันล้านบาท , รองรับการชำระคืนตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) เพราะไม่แน่ใจว่าทิศทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร โดยยอมรับว่าตลอดชีวิตการทำงานยังไม่เคยเจอสภาพเช่นนี้ ทำให้บริษัทยากที่จะคาดการณ์ทิศทาง

"เราเก็บเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไว้ 1 พันล้านบาทเพื่อความไม่ประมาท เพราะว่าหากเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังมีเงินพอที่จะใช้กับภาระผูกพันได้ทั้งปี คือเราจะต้องชำระคืนค่าเวนคืนให้การทางฯ เราจะต้องชำระหนี้ เราจะต้องจ่ายเงินปันผล เราไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราเตรียมสภาพคล่อง ก็ยืนยันได้ว่า ในปี 52 BECL ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง "

ทั้งนี้ รายจ่ายของบริษัทในปีนี้ ได้แก่ ค่าเวนคืนที่ดินให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) จำนวน 800 ล้านบาทเพิ่มจากปีก่อนที่จ่าย 700 ล้านบาท ภาระจ่ายดอกเบี้ยราว 1.2 พันล้านบาท ชำระคืนเงินต้น 3 พันล้านบาท ค่าใช้จ่ายการดำเนินการ 1.2 พันล้านบาท และไว้สำรองจ่ายเงินปันผล 800 ล้านบาท โดยทั้งหมดนี้จะนำมาจากรายได้จากการดำเนินงาน แต่นางพเยาว์กล่าวว่า หากเกิดอะไรขึ้นบริษัทก็ยังสามารถนำเงินที่สำรองไว้ใช้จ่ายในรายการที่จำเป็นต้องจ่าย

ส่วนจำนวนหุ้นกู้ที่บริษัทยังเหลือวงเงินอยู่ 3.5 พันล้านบาทนั้น นางพเยาว์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะออกและเสนอขายในปี 52 หรือปี 53 เพราะมองว่าอัตราดอกเบี้ยคงไม่ปรับขึ้นไปง่าย แต่บริษัทจะหาช่วงจุดต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยจึงจะออกหุ้นกู้ในช่วงนั้น เพราะขณะนี้ไม่ต้องรีบร้อน เพราะบริษัทมีสภาพคล่องในมือไว้อยู่แล้ว

สำหรับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) (ถือหุ้น 53.33%) ซึ่งดำเนินโครงการทางด่วน บางปะอิน- ปากเกร็ดนั้น นางพเยาว์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทจะไม่ดำเนินการใดๆทั้งสิ้นจากก่อนหน้านี้เคยมีแผนควบรวมกิจการ เพื่อเข้าช่วยเหลือทางการเงิน แต่ต้องล้มเลิกไป เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ NECL มีผลขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งในงบรวมได้รวม NECL เข้าไปด้วย

นอกจากนี้กรณีคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ชำระเงินส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนโครงข่ายในเขตเมืองให้แก่บริษัทฯ จำนวนทั้งหมด 3.83 พันล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) เมื่อช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมานั้นนางพเยาว์ กล่าวว่า บริษัทยังไม่บันทึกบัญชี เนื่องจากบริษัทเห็นว่ากระบวนการทางศาลยังไม่สิ้นสุด โดย BECL ต้องยื่นคำร้องบังคับคดีให้ กทพ.ให้จ่ายส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวให้กับบริษัท ซึ่งบริษัทเตรียมจะยื่นต่อศาลในเร็วๆนี้



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ