นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดทดลองเดินรถไฟฟ้าโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ต เรล ลิงค์)ว่า จากการทดลองระบบเดินรถมั่นใจว่าโครงการจะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 12 ส.ค.นี้
แต่ในระยะแรกระบบเช็คอินที่สถานีมักกะสัน อาจไม่สามารถให้บริการเช็คอินผู้โดยสารที่มีสัมภาระที่ต้องโหลดขึ้นเครื่องบินได้ เพราะระบบลำเลียงสัมภาระยังไม่สมบูรณ์ และบางขั้นตอนอาจต้องใช้แรงงานคน จึงต้องศึกษามาตรการด้านความปลอดภัยระบบสากลก่อนว่าจะให้การรับรองหรือไม่ ส่วนผู้โดยสารที่ถือสัมภาระขึ้นเครื่องสามารถเช็คอินได้
นายโสภณ กล่าวว่า การเร่งรัดให้โครงการเปิดบริการได้ก่อน แม้จะยังไม่แสร็จสมบูรณ์ เพราะต้องการช่วยให้ประชาชนได้ใช้บริการ และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)จะมีรายได้จากการให้บริการเดินรถ โดยบริษัทลูกที่ รฟท.จัดตั้งขึ้นจะเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการเดินรถในโครงการแอร์พอร์ต ลิงค์
ด้านนายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่า งานก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตลิงค์มีความคืบหน้า 96% โดยงานที่ล่าช้า คือ สถานีมักกะสัน สถานีราชปรารภ และงานระบบราง ช่วงสถานีรามคำแหง-มักกะสัน เพราะที่ผ่านมามีปัญหาส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ขณะนี้กลุ่มกิจการร่วมค้า บี.กริมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)เป็นแกนนำ ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 180 วัน ตามมติครม.ที่ต้องการช่วยเหลือผู้รับเหมาจากปัญหาเศรษฐกิจ
"การขยายเวลาก่อสร้างอีก 180 วัน ส่งผลให้งานโยธาจะสิ้นสุดสัญญาในเดือนส.ค.นี้ แต่ยังไม่รวมการทดสอบระบบ ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 90 วัน ส่วนงานก่อสร้างจะใช้เวลาเต็มตามที่ได้รับอนุมัติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของผู้รับเหมา"นายประเสริฐ กล่าว
แหล่งข่าวจาก รฟท.กล่าวว่า หากจะเปิดให้บริการโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ในเดือนส.ค.52 ผู้รับเหมาต้องก่อสร้างงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.นี้ เพื่อจะใช้เวลาอีก 90 วันในการทดสอบระบบ แต่ปัจจุบันงานก่อสร้างระบบรางบางช่วง และงานก่อสร้างสถานีบางแห่งยังไม่แล้วเสร็จ ส่งผลให้การทดสอบระบบต้องยืดเวลาออกไป คาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ ตามที่ผู้รับเหมาได้รับการขยายเวลาอีก 180 วัน หลังจากนั้นจะใช้เวลาอีก 90 วันเพื่อทดสอบระบบเดินรถ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 52
ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟท.ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำหน้าที่เดินรถไฟฟ้าแล้ว โดยใช้ชื่อว่า บริษัท เดินรถร่วม(รฟท.) จำกัด และอยู่ระหว่างทาบทามนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ให้มาดำรงตำแหน่งซีอีโอชั่วคราวของบริษัท
ส่วนการว่าจ้างซีอีโอตัวจริงต้องรอให้ครม.อนุมัติจัดตั้งบริษัทก่อน โดยรฟท.ได้ว่าจ้างสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวงเงิน 32 ล้านบาทต่อเดือน ให้ทำหน้าที่จัดหาและว่าจ้างบุคลากรระดับบริหาร จำนวน 51 ตำแหน่ง หลังจากนั้นจะว่าจ้างบุคลากรอีก 450 ตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานขับรถไฟ