ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (13 ก.พ.) แม้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 7.87 แสนล้านดอลลาร์แล้วก็ตาม โดยนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้มีรายงานว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังดำเนินการช่วยเหลือเจ้าของบ้านที่ประสบปัญหาด้านการชำระหนี้ก็ตาม
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลง 82.35 จุด หรือ 1.04% แตะที่ 7,850.41 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 8.35 จุด หรือ 1.00% แตะที่ 826.84 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 7.35 จุด หรือ 0.48% แตะที่ 1,534.36 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.24 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 3 ต่อ 2 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2 พันล้านหุ้น
ตลาดหุ้นนิวยอร์กแทบจะไม่มีปฏิกริยาในด้านบวกต่อข่าวที่ว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาได้ลงมติผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยคะแนนเสียง 246 ต่อ 183 เสียง สำหรับใช้จ่ายและลดภาษีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัว และวุฒิสภาสหรัฐมีกำหนดที่จะเริ่มลงมติตั้งแต่เวลา 05.30 น.ตามเวลาไทยวันนี้
ปีเตอร์ คาร์ดิลโล นักวิเคราะห์จากบริษัท อวาลอน พาร์ทเนอร์ส กล่าวว่า "ตลาดไม่ตอบรับแผนฟื้นฟูฉบับนี้เพราะนักลงทุนมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป บางกลุ่มมองว่าเป็นวงเงินที่น้อยเกินกว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ บางกลุ่มมองว่ามากเกินไปในยามที่รัฐบาลเองก็มียอดขาดดุลงบประมาณมูลค่ามหาศาลเช่นนี้ วิกฤติศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลเช่นนี้ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อขายตลอดสัปดาห์นี้"
ก่อนหน้านี้ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ ประกาศแผนช่วยเหลือภาคการเงินมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการกู้ยืมและคลี่คลายปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงิน โดยแผนการดังกล่าวครอบคลุมถึงการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารและจูงใจนักลงทุนเอกชนให้เข้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ อีกทั้งลดอัตราการยึดบ้านติดจำนอง
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กไม่ได้ตอบรับแผนการช่วยเหลือภาคการเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ผิดหวังที่กระทรวงการคลังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเรื่องการแก้ไขหรือจัดการกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน จึงทำให้เกิดแรงขายในหุ้นกลุ่มการเงินและฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงอย่างหนัก
โคคา-โคล่า บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายใหญ่ที่สุดในโลกเปิดเผยผลกำไรไตรมาส 4 ปี 2551 ปรับตัวลดลง 18% จากผลกระทบของเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับการปรับลดมูลค่าทางบัญชีหลายครั้ง แม้ว่ายอดขายทั่วโลกจะเพิ่มสูงเกินคาด 4% โดยบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกหลายแห่งต่างเผชิญช่วงเวลาที่เลวร้ายในไตรมาส 4 เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าได้ฉุดรั้งตัวเลขผลกำไรจากยอดขายสินค้าในต่างประเทศ
หุ้นโตโยต้าดิ่งลง 3% หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายที่ย่ำแย่ในสหรัฐ ส่วนหุ้นเจพีมอร์แกนร่วง 3.3% ซึ่งเป็นหุ้นที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์มากที่สุด