MLINK ขอหวังแค่ประคองยอดขาย-อัตรากำไรสุทธิปี 52 ไม่ให้ต่ำกว่าปี 51

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 17, 2009 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น(MLINK)เผยปี 52 ตั้งเป้ายอดขายเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ 2 ล้านเครื่องเท่ากับปีก่อน มองว่ากำลังซื้อหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ จึงคาดว่ารายได้จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่คาดว่าจะทำได้ราว 8 พันล้านบาท และราคาต่อเครื่องทรงตัวจากปีก่อนที่กว่า 3 พันบาท/เครื่อง เชื่อว่าจะรักษาอัตรากำไรสุทธิ(net profit margin)ใกล้กับปีก่อนที่ 1.5% เช่นกัน ระบุอยู่ระหว่างเจรจาโนเกียขายรุ่น Exclusive เพิ่มปีนี้

"ตั้งประมาณการ 2 ล้านเครื่องไม่ได้เพิ่มจากปีที่แล้ว คือถ้าได้ zero growth ก็ยังดีใจ เพราะยังมีความเสี่ยงกำลังซื้อหดตัว ยังไงเราก็คาดหวังว่าจะมีเครื่องโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ การลดราคาสินค้าลงมาช่วยพยุงได้บ้าง"นายพลณรงค์ วัฒนโพธิธร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด MLINK กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรสุทธิปีนี้ไว้ได้ บริษัทจะพยายามนำโทรศัพท์มือถือรุ่น Exclusive หรือรุ่นที่บริษัทได้ขายเพียงรายเดียว ซึ่งต้องเจรจากับทางโนเกีย โดยขณะนี้บริษัทยังมีรุ่น Exclusive อยู่ประมาณ 5 รุ่น ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วที่จะขายได้ไปถึงไตรมาส 2/52 เพราะการขายโทรศัพท์มือถือรุ่น Exclusive จะสร้างกำไรได้มากขึ้นกว่าโทรศัพท์ปกติ

"เรากำลังดีลกับทางโนเกีย จริงๆเราก็พยายามทำให้ได้ประมาณปีละ 7 รุ่น 8 รุ่น โดยบางปีเราได้ 6 รุ่น บางปีเราได้ 7 รุ่น แต่ก็ค่อนข้างใกล้เคียง แน่นอนจะทำให้มาร์จิ้นเราได้ดีขึ้น เพราะเราขายคนเดียวไม่มีใครขายตัดราคา ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมาเราขายตัว Exclusive Model ทำให้บริษัท control มาร์จิ้นได้ค้อนข้างดี ทำกำไรให้เราได้เยอะมาก"ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด MLINK กล่าว

ในปี 51 บริษัทได้ขายรุ่น Exclusive ทั้งหมด 6-7 รุ่น ซึ่งก็สร้างกำไรให้บริษัทค่อนข้างมาก โดยมีสัดส่วนประมาณ 20-30% ของกำไรสุทธิ แม้ว่ารายได้จะมีไม่มาก ประกอบกับ บริษัทมียอดขายจากอุปกรณ์เสริมและขายคอนเท้นท์ ซึ่งมีมาร์จิ้น 2 หลัก ทำให้บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 1.5% ของยอดขาย ซึ่งถือเป็นระดับถือว่าใช้ได้ แม้ว่ายอดขายจะปรับลดลง

นายพลณณงค์ คาดว่ารายได้ใน ปี 51 จะทำได้ 8 พันกว่าล้านบาท ลดลงราว 20% จากปี 50 ที่มี 1.05 หมื่นล้านบาท เพราะราคาขายต่อเครื่องเฉลี่ยลดลงจากราว 4 พันบาท/เครื่อง เหลือประมาณ 3 พันกว่าบาท/เครื่อง เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนมาซื้อเครื่องราคาต่ำมากขึ้น สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจ

*ยอมรับไตรมาส 1/52 ยอดขายตก

นายพลณรงค์ กล่าวยอมรับว่า ในไตรมาส 1/52 ยอดขายอาจจะลดลงจากไตรมาส 4/51 สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค และส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการปรับปรุงระบบการจัดจำหน่ายของค่ายมือถือโนเกีย แต่คาดว่าในไตรมาส 2/52 ยอดขายจะดีขึ้นหลังจากที่ระบบการจัดจำหน่ายของโนเกียลงตัว ซึ่งจะช่วยให้การแข่งขันการขายโทรมือถือแบรนด์เดียวกันของผู้จัดจำหน่าย 3 รายในไทยลดลงมาก นอกเหนือจากที่ต้องแข่งกับแบรนด์อื่น

ทั้งนี้ โนเกียปรับโครงสร้างระบบการจำหน่ายใหม่ ซึ่งเริ่มใช้ในเดือน ก.พ.นี้ คาดว่าอีก 2-3 เดือนก็น่าจะเข้าที่ ก็เชื่อว่าหลังจากไม่น่าจะมีการแข่งขันด้านราคาของโนเกียด้วยกัน ก็จะทำให้ราคาขายของเครื่องมือถือโนเกียจะค่อนข้างนิ่ง

"ไตรมาสแรกก็อาจจะ drop ค่อนข้างเยอะ ซึ่งมีหลายส่วนมากระทบ เช่นจากตลาดส่วนหนึ่ง การปรับโครงสร้างของโนเกียก็ทำให้ทุกอย่างยังไม่นิ่ง พอไม่นิ่งยอด drop แน่นอน เวลาโนเกียปรับโครงสร้างอย่างนี้ ในประเทศอื่นๆเขาบอกว่า 3 เดือนแรกเป็นอย่างนี้ทุกที่ แล้วพอนิ่งแล้วจะ pick up แล้วจะโตจากเดิมที่เคยเห็น เพราะฉะนั้นช่วงนี้จะเป็นช่วงปัดกวาด จัดระเบียบทุกอย่าง ก็ต้องยอมถอหลังนิดหนึ่ง แต่ในไตรมาส 2 จะดีขึ้นจากไตรมาสแรก"นายพลณรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทมองว่าในปีนี้ทางโนเกียจะมีนโยบายปรับราคาลง ซึ่งโดยปกติก็มีการปรับราคาตามเทคโนโลยี แต่ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้น่าจะมีการปรับราคาและออกสินค้าใหม่เข้ามากระตุ้นยอดขายมากกว่าช่วงปกติ แต่เมื่อไรก็ต้องรอดู และหลังกาปรับโครงสร้างการขายของโนเกียจะทำให้การแข่งขันภายในแบรนด์ในปีนี้จะนิ่ง

ขณะเดียวกัน มองภาพคลาดรวมยอขายเครื่องมือถือในประเทศปีนี้ประมาณ 8 ล้านเครื่องเท่ากับปีก่อน คือไม่ได้ลดลงจากปีที่แล้ว แม้ว่าผู้ซื้ออาจจะกังวลภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปอยู่ แต่ก็หวังว่าปลายปีจะดีขึ้น ซึ่งเป็นช่วงพีคของผู้ประกอบการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือ

*ไม่ลงทุนขยายร้านเพิ่ม

นายพลณรงค์ กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปีนี้บริษัทจะไม่ลงทุนเปิดร้านค้าสาขาเพิ่ม แต่หากได้ที่โลเกชั่นดีและราคาไม่แพง ก็อาจเข้าไปจับจองไว้ก่อนจนกว่าจะพร้อม โดยเห็นว่าการตั้งร้านขนาดใหญ่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้น ในอนาคตขนาดร้านของ MLINK ก็อาจปรับขนาดเล็กลง เพราะยอดขายที่ได้ก็ไม่แตกต่างกัน จึงอาจเน้นขยายจุดขายในเพาเวอร์บายและไอทีซิตี้แทนในจุดที่ยังเปิดไม่ครบ คาดว่าจะขยายจุดขายประมาณ 50 จุดในปีนี้ ซึ่งไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก

ปัจจุบัน MLINK มีร้านค้าภายใต้ 2 บริษัทย่อย คือ บริษัท เทเลแม็กซ์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท เอ็ม ช็อป โมบาย จำกัด จำนวนทั้งหมด 21 แห่ง(ไม่นับแฟรนส์ไชส์) ได้แก่ ร้านเทเลวิซ และร้านเอ็มช็อป รวมทั้งจุดขายตามห้าง ได้แก่ เพาเวอร์บาย, ไอทืซิตี้ , เพาเวอร์มอลล์ รวมเป็น 60 กว่าจุดขาย

ขณแดียวกันศูนย์บริการโนเกียแคร์(Nokia Care Centre)ในช่วงนี้ยังไม่ขยายเพิ่ม ปัจจุยันมี 12 ศูนย์ ตั้งอยุ่กทม. 6 แห่งและต่างจังหวะ 6 แห่งในเขตเมืองใหญ่ เพราะแต่ละศูนย์จะใช้เงินลงทุนเกือบ 10 ล้านบาท "การที่เราเลือกขายเครื่องมือถือโนเกีย 100% ทุกอย่าง วางแผนร่วมกันกับโนเกีย เขาก็จะให้การสนับสนุนเราค่อนข้างชัดเจน ซึ่งคิดว่ามาถูกทางแล้ว จากเมื่อก่อนขายเครื่องหลายยี่ห้อ ขายได้มากแต่ขาดทุนบางยี่ห้อ " นายพลณรงค์กล่าว

MLINK เป็นผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือของ โนเกีย เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจ Digital Trunked Radio หรือวิทยุสื่อสาร, ธุรกิจ Application บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ ธุรกิจ System Integrator


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ