นักเศรษฐศาสตร์มองสัญญาณบ่งชัดกำลังการผลิตทรุดต่ำกว่าวิกฤติปี 40

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 17, 2009 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวว่า เรื่องที่น่ากังวลใจสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยในขณะนี้สะท้อนผ่านตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capital Utilization Rate) พบว่าโดยภาพรวมแล้วการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.9% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40 แสดงให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยกำลังเผชิญกับปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินสูง(excess capacity)โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ก็คือ เมื่อพิจารณาตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตแบบเจาะลึกจะพบว่าในเดือน ธ.ค.51 มีบางอุตสาหกรรมที่มีตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าปี 41 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ธ.ค.ที่มาอยู่ที่ 44% ต่ำกว่าปี 41 ซึ่งอยู่ที่ 65% เช่นเดียวกับเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมยาง โดยทั้งหมดเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกมากกว่า 60% ของกำลังการผลิต

“แม้จะเป็นตัวเลขเพียงเดือนเดียว ซึ่งอาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสถานการณ์ตอนนี้เลวร้ายกว่าวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40 แต่เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่กดดันการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งในขณะนี้และในอนาคต ก็ต้องยอมรับว่าเรามีความกังวลว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความอ่อนไหวสูง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ เหล็ก ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก รวมถึงแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลควรเข้ามาดูแลมากขึ้น" นายสุกิจ กล่าว

นายสุกิจ กล่าวว่า ในที่สุดแล้วโครงสร้างภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยจะเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของภาคการเงินหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ดังนั้น ในส่วนของภาครัฐจึงควรที่จะเน้นการดูแลในเชิงการวางกลยุทธ์ เพื่อที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ประโยชน์มากที่สุดในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นหรือยังคงตกต่ำต่อไป โดยจะต้องวางแผนรองรับล่วงหน้า รวมทั้งจะต้องมีนโยบายเพื่อที่จะส่งเสริมด้านการลงทุนอย่างชัดเจนอีกด้วย

ด้านนางนฤมล สอาดโฉม รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา NIDA Business School กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเป็นความเสี่ยงระลอกใหม่ นั่นคือ แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะพิจารณาผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 789,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแผนกอบกู้วิกฤติการเงินมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าแผนดังกล่าวโดยเฉพาะแผนกอบกู้วิกฤติการเงินยังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น

โดยเฉพาะปัญหาในภาคสถาบันการเงินในส่วนของการตีมูลค่าสินทรัพย์ในสถาบันการเงินและขายต่อให้กับกองทุนร่วมของรัฐและเอกชน ซึ่งจุดนี้ถ้าใช้การตีมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด (Mark to Market) จะทำให้เกิดการด้อยค่าของราคาสินทรัพย์อย่างรวดเร็ว และจะทำให้สถาบันการเงินต้องทำการตัดขาดทุนอีกครั้งและพบกับภาวะขาดทุนจนต้องดำเนินการเพิ่มทุนครั้งใหญ่อีกระลอก ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะจุดชนวนให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินและตลาดทุนรอบใหม่

ขณะเดียวกัน ยังมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทย ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ในการประชุม World Economic Forum ครั้งล่าสุดที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมล้วนมีความกังวลในประเด็นการกีดกันทางการค้า เพราะจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้าออกไป ผนวกกับการที่นานาประเทศทั่วโลกเริ่มหันมากระตุ้นเศรษฐกิจโดยงบประมาณภาครัฐและเน้นให้วงเงินดังกล่าวซื้อวัตถุดิบในประเทศ ทำให้รูปแบบการกันกีดกันทั้งทางด้านการค้าเริ่มปรากฏขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ