นายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คาดว่า ในเบื้องต้นจะเประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าโครงการเช่าและซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิง (NGV) จำนวน 4 พันคัน ได้ในเดือน มี.ค.นี้
ในวันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ขสมก. ได้แต่งตั้งนายนเรศ บุญเปี่ยม ผู้ช่วยผู้อำนวยการขสมก.เป็นประธานคณะกรรมการประกวดราคา โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่พิจารณากำหนดวันออกประกาศเชิญชวนและวันขายเอกสารประกวดราคา โดยจะเสนอกรอบเวลาเบื้องต้นให้คณะกรรมการขสมก.พิจารณาในวันที่ 23 ก.พ.นี้
ด้านนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานกรรมการ ขสมก. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขสมก. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบรายละเอียดร่างทีโออาร์ที่จะใช้คัดเลือกเอกชนในโครงการเช่าและซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิง หรือโครงการเช่ารถโดยสารเอ็นจีวี 4 พันคัน เป็นเวลา 10 ปี
ทั้งนี้ ขสมก.จะเผยแพร่ร่างทีโออาร์ในเว็บไวต์ WWW.BMTA.CO.THเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-20 ก.พ.52 เพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง และเพื่อให้รู้ว่าขสมก.ได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆมาปรับปรุงรายละเอียดร่างทีโออาร์อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ คณะกรรมการจัดทำรายละเอียดร่างทีโออาร์ ซึ่งมีนายชัยรัตน์ สงวนชื่อ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกเป็นประธาน จะประชุมเพื่อสรุปรายละเอียดร่างทีโออาร์ ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการขสมก.พิจารณาในวันเดียวกัน เพื่อยืนยันมติอีกครั้ง
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการรถร่วมบริการขสมก. เสนอให้ทบทวนรายละเอียดโครงการนั้น คณะกรรมการขสมก.ไม่มีอำนาจดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องของนโยบาย ในเมื่อยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย คณะกรรมการขสมก.จึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
เว็บไซด์ขสมก.เผยแพร่ร่างทีโออาร์การประมูลผ่านวิธีการทางอิเลคทรอนิกส์โครงการเช่ารถโดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 4 พันคัน พร้อมอุปกรณ์และซ่อมแซมบำรุงรักษา ระยะเวลาเช่า 10 ปี ในจำนวนนี้รถโดยสารไม่น้อยกว่า 2,800 คันต้องเป็นรถที่ประกอบโดยผู้ประกอบกิจการต่อตัวถังในประเทศ
และติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นรถโดยสารประจำทางวิ่งบริการในเขต กทม.และปริมณฑล ได้แก่ ระบบตั๋วโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) พร้อมอุปกรณ์ บนรถยนต์โดยสาร, ระบบควบคุมและติดตามการเดินรถ GPS , GPRS หรือระบบอื่นที่ดีกว่า และ CCTV พร้อมอุปกรณ์ บนรถยนต์โดยสาร, ป้ายอัจฉริยะพร้อมอุปกรณ์ บริเวณป้ายรถเมล์ ไม่น้อยกว่า 40 ชุด
ทั้งนี้ ผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องส่งมอบรถยนต์โดยสารให้เป็นไปตามแผนการส่งมอบ โดยสามารถเลือกการส่งมอบรถยนต์โดยสารในคราวเดียว จำนวน 4,000 คัน ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับถัดจากวันลงนามสัญญาเช่ารถโดยสาร หรืออาจเลือกส่งมอบรถเป็นงวด ๆ ได้
แต่การส่งมอบงวดแรก ต้องส่งมอบจำนวนไม่น้อยกว่า 1,500 คัน จำนวนรถที่เหลือจะต้องทยอยส่งมอบเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 200 คัน โดยต้องส่งมอบรถจำนวน 4,000 คัน ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี นับถัดจากวันลงนามในสัญญา
นอกจากนี้ ในร่าง TOR ระบุคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ต้องเป็นนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือกลุ่มนิติบุคคลที่ร่วมทุนระหว่างนิติบุคคลไทยกับนิติบุคคลต่างประเทศในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือนิติบุคคลที่ร่วมทำงาน (Consortium) ระหว่างนิติบุคคลไทยกับนิติบุคคลไทย และหรือ นิติบุคคลต่างประเทศ
รวมทั้งต้องเป็นนิติบุคคลที่มีสถานะการเงินมั่นคง มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท ชำระเต็มมูลค่า ในกรณีกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือนิติบุคคลที่ร่วมทำงาน (Consortium) บริษัทหลักต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท ชำระเต็มมูลค่า และทุนจดทะเบียนรวมของกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือนิติบุคคลที่ร่วมทำงาน (Consortium) มีทุนจดทะเบียนรวมไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท ชำระเต็มมูลค่า
และผู้เสนอราคาที่เสนอให้เช่าและซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิง จะต้องเสนอผลงานการผลิต หรือผลงานการขาย หรือผลงานการให้เช่าและผลงานการเป็นผู้ซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศชนิดใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยต้องมีหนังสือรับรองและหลักฐานเป็นที่เชื่อถือได้