บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term rating) ของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ลงมาที่ระดับ A(tha) จาก A+(tha) นอกจากนี้ ฟิทช์ยังได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ SCC ที่ระดับ F1(tha) พร้อมกับปรับลดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิที่คงเหลืออยู่ของ SCC ลงมาที่ระดับ A(tha) จาก A+(tha) และได้ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ แก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ SCC ครั้งที่ 1/2552 มูลค่าไม่เกิน 2.0 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2556 ที่ระดับ ‘A(tha)’ โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่จะนำมาใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระและสำรองไว้เพื่อโครงการลงทุนใหม่บางส่วน ขณะเดียวกันฟิทช์ได้ปรับทบทวนแนวโน้มเครดิตของ SCC เป็นมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเครดิตเป็นลบ
การปรับลดอันดับเครดิตเป็นผลกระทบมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอในปี 2551 ซึ่งทำให้ผลการดำเนินงานของ SCC ด้อยลงและต่ำกว่าที่ฟิทช์ได้คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้สภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างมากน่าจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และราคาสินค้าในกลุ่มธุรกิจหลักของ SCC ในปี 2552 ซึ่งจะทำให้การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทเกิดขึ้นได้ไม่มากนักในช่วง 24 เดือนข้างหน้า ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีการดำเนินโครงการลดต้นทุนและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในแผนการลงทุนและนโยบายการจ่ายเงินปันผลก็ตาม
ในปี 2551 SCC มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) (ก่อนเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) จำนวน 3.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นผลจากส่วนต่างกำไรที่ลดลงเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 และผลขาดทุนจากการลดค่าลงของสินค้าคงคลังจำนวน 5.0 พันล้านบาทเนื่องจากผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงอย่างมากในไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งกำไรดังกล่าวต่ำกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้สำหรับปีงบการเงิน 2551 นอกจากนี้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margins) ลดลงมาอยู่ที่ 11% ในปี 2551 จาก 15% ในปี 2550 จากผลการดำเนินงานที่ด้อยลงประกอบด้วยเงินลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) (Net Debt to EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 3.1 เท่า ณ สิ้นปี 2551 จากระดับ 2.1 เท่า ณ สิ้นปี 2550
สภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะตกต่ำลงไปอีกในปี 2552 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของ SCC ในขณะที่ยอดขายภายในประเทศของบริษัทน่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างมาก ดังนั้นแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายที่อ่อนแอและแผนการลงทุนที่ยังคงสูงเพื่อขยายกำลังการผลิตจำนวน 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2552 น่าจะทำให้ SCC มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) เพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 3.5 เท่า ถึงแม้ว่า SCC คาดว่าจะสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินลงมาที่ระดับ 2.5 เท่าได้ภายในสิ้นปี 2553 แต่ฟิทช์ยังมองว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะถดถอยอย่างรุนแรงและต่อเนื่องซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวของบริษัทอยู่สูงกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจในธุรกิจหลักของ SCC ระดับของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อยู่ในระดับสูง และแผนการลงทุนใหม่ในอนาคตที่ลดลงซึ่งน่าจะช่วยรักษาสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินของ SCC ให้อยู่ในระดับเครดิต ณ ปัจจุบันได้ในระยะปานกลาง สภาพคล่องทางการเงินของ SCC ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่สภาวะการดำเนินธุรกิจมีความยากลำบากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากระดับของเงินสดคงเหลือที่ 2.67 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 และความสามารถในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศ
ฟิทช์กล่าวว่าการลดลงของอัตราส่วนกำไรอย่างต่อเนื่องและอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของ SCC ได้ ในทางตรงกันข้าม ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินปรับลดลงอยู่ในระดับ 2.5 เท่า หรือต่ำกว่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของ SCC