(เพิ่มเติม) NWR ตั้งเป้าปี 52 รายได้ใกล้เคียงปีก่อนที่ 4 พันลบ.รับหางานใหม่ยาก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 18, 2009 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพลพัฒ กรรณสูต กรรมการผู้จัดการ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) คาดว่า รายได้ปี 52 อาจจะใกล้เคียงกับปี 51 ที่ 4 พันล้านบาท เนื่องจากยอมรับว่าปีนี้งานก่อสร้างในตลาดค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะงานภาคเอกชน ดังนั้น บริษัทจึงจะเน้นงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ทำให้รายได้ของบริษัทในปีนี้แทบจะมาจากงานภาครัฐเกือบทั้งหมด

ปี 51 รายได้ของ NWR มาจากงานภาครัฐ 70% และงานภาคเอกชน 30%

ส่วนผลประกอบการปี 51 บริษัทคาดว่าจะพลิกมามีกำไรสุทธิ หลังจากขาดทุนติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 48-50 แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีขาดทุนอีกค่อนข้างมาก ประมาณพันกว่าล้านบาท ซึ่งคาดว่าการล้างขาดทุนสะสมจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

สำหรับการลงนามสัญญาจ้างงานรับเหมาขุด-ขนดินและถ่านหินเหมืองแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ระหว่างกิจการร่วมค้า ของ NWR และ บริษัท สระบุรีถ่านหิน จำกัด ในนาม NWR-SBCC JOINT VENTURE กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อดำเนินการขุด-ขนดินและถ่าน รวมมูลค่างานกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท อายุสัญญา 9 ปี ถือเป็นงานใหญ่ที่สุดของปีนี้ และใหญ่ที่สุดตั้งแต่รับงานมา โดยบริษัทต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 10% ของมูลค่างานทั้งหมด

ทั้งนี้ บริษัทจะรับรู้รายได้ครึ่งหนึ่งของโครงการตามสัดส่วนการถือหุ้น 50% ในกิจการร่วมค้า NWR-SBCC JOINT VENTURE คือ ประมาณ 8.34 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 52 จนจบระยะสัญญา 9 ปี คือในปี 61 เท่ากับว่าในแต่ละปี NWR จะรับรู้รายได้จากโครงการนี้ประมาณ 1 พันล้านบาท ยกเว้นปีนี้ที่เป็นปีแรกจะรับรู้ฯ เพียงแค่ 400 ล้านบาท

และหากในอนาคต กฟผ. เปิดประมูลโครงการเหมืองแม่เมาะสัญญาอื่นๆ เพิ่มเติม บริษัทก็พร้อมจะเข้าประมูล ขึ้นอยู่กับว่าทาง กฟผ.จะยังให้โอกาสคนที่เคยได้ทำงานในสัญญาก่อนหน้าไปแล้วเข้าทำงานอื่นๆ อีกหรือไม่

"ถ้า กฟผ.ยังให้โอกาสเราเข้าประมูลงานเพิ่มอีก เราก็พร้อม"นายพลพัฒ กล่าว

*งานในตลาดมีน้อย งานเอกชนหายจ้อย

นายพลพัฒ กล่าวว่า ยอมรับว่าปีนี้งานที่เป็นของภาคเอกชนมีจำนวนลดลงมาก หรือแทบจะไม่มีในตลาดเลย ดังนั้น ภาครัฐควรจะเร่งกระตุ้นด้วยการผลักดันการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็คต์ออกมามากขึ้นกว่านี้เพื่อจะได้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสีต่าง ๆ รวมทั้งรันเวย์ 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิ

รวมทั้งอยากเสนอแนะให้ภาครัฐออกสัญญาที่มีขนาดเล็กลงบ้าง เพื่อที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะได้มีโอกาสและรับรู้รายได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยบริษัทสนใจพร้อมจะเข้าประมูลทุกงานที่มีเข้ามา

"อยากให้รัฐออกสัญญาขนาดเล็กๆ บ้าง เพราะถ้ามีแต่โครงการใหญ่ๆ รายเล็กก็คงเสียเปรียบ และถ้าจะทำงานก็ต้องไปหาพาร์ทเนอร์มาร่วมทำงาน"นายพลพัฒ กล่าว

และหากมีงานในต่างประเทศที่น่าสนใจก็พร้อมจะเข้าไปประมูลเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นโครงการในต่างประเทศ ต้องใช้เงินลงทุนทำงานค่อนข้างมาก

"ยอมรับว่าบริษัทไม่มีเงินสดในมือ ถ้าจะทำโครงการในต่างประเทศ อาจจะต้องกู้แบงก์ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แบงก์เองก็ต้องป้องกันตัว เข้มงวดเรื่องการปล่อยกู้ และแนะนำว่าให้เอางานที่ได้แน่นอนกว่า ซึ่งหมายความว่างานในประเทศและงานภาครัฐมีความแน่นอนกว่ามาก"นายพลพัฒ กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 3.8-4 พันล้านบาท ยังไม่รวมโครงการเหมืองแม่เมาะ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ