นายศราวุธ ศรีพยัคฆ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)เปิดเผยว่า วันนี้ศาลฎีกาให้ยกคำร้องกรณีที่ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ(BECL) ขอให้ กทพ.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการที่ให้กทพ.จ่ายเงินชดเชยให้กับ BECL ราวกว่า 1 พันล้านบาท สืบเนื่องจากการยกเลิกการขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญาในปี 41
ศาลฎีกาเห็นว่าการที่คณะอนุญาโตตุลาการชุดแรกส่งคำชี้ขาดไปให้คณะอนุญาโตตุลาการชุดที่ 2 พิจารณาอีกครั้งนั้น ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 23 ที่จะซ้ำซ้อนกับผลคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดแรกที่ชี้ขาดให้ กทพ.ชนะไปแล้ว ย่อมส่งผลทำให้คณะอนุญาโตตุลาการไร้ประสิทธิผลไปโดยปริยาย หากคู่กรณีไม่ยอมรับผลการชี้ขาดจะทำให้ทำซ้ำซากต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นอื่นๆอีก โดยศาลให้บริษัทจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับทนายความเป็นเงิน 1 แสนบาท
การปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทางในปี 41 ของทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 โดย BECL เสนอโครงข่ายในเมืองปรับเพิ่ม 10 บาทสำหรับรถยนต์ 4 ล้อและ 20 บาทสำหรับรถยนต์ 6-10 ล้อและเกิน 10 ล้อ มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยวันที่ 27 สิงหาคม 2541 ตามอัตราที่บริษัทเสนอ
ต่อมามีการร้องเรียนจากผู้ใช้ทาง กทพ.จึงต้องออกประกาศค่าผ่านทางอีกฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2541 ทำให้ค่าผ่านทางปรับเพิ่ม 10 บาทสำหรับรถทุกประเภท แต่โครงข่ายนอกเขตเมืองไม่มีการปรับ บริษัทจึงฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าชดเชยผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางจริงที่นับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันยี่นข้อพิพาท
แต่ กทพ.ปฎิเสธที่จะปฎิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงนำเรื่องฟ้องศาลแพ่งและเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้ กทพ.จ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทยืนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งต่อศาลฎีกาจนมีคำตัดสินในวันนี้
ประธานสหภาพฯ กล่าวว่า ศาลฎีกาให้ กทพ.เป็นฝ่ายชนะคดีนี้ และจะทำให้ กทพ.ไม่ต้องเสียประโยชน์จากการที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ กทพ. มีแผนที่จะขยายอายุสัญญาสัมปทานให้กับ BECL เป็นเวลา 8 ปี 10 เดือน เพื่อเสนอให้กับ BECL ในการไกล่เกลี่ยคดี