ทริสคงอันดับเครดิตองค์กร RATCH ที่ “AA-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 20, 2009 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ที่ระดับ “AA-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงรายได้ที่แน่นอนในรูปของเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทลูกคือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (RATCHGEN) และ บริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด (TECO) รวมถึงการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่งที่มีพื้นฐานดี และนโยบายการลงทุนที่มีความระมัดระวัง ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงศักยภาพในการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาวและโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะลดลงในปี 2552-2553 อาจส่งผลทำให้โครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่งต้องเลื่อนแผนการดำเนินงานออกไป 1 ถึง 2 ปี จากกำหนดเดิม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของ “RATCH" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลที่แน่นอนจาก RATCHGEN และจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าอื่นๆ โดยที่รายได้จากเงินปันผลปีละ 5,000-6,000 ล้านบาทจะเป็นแหล่งเงินทุนหลักของบริษัทในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ในอนาคต

ทริสเรทติ้งยังประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีประกันของ RATCHGEN ที่ระดับ “AA" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าราชบุรีซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีโครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่งและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ตลอดจนประสบการณ์ที่ยาวนานและผลงานในการบริหารโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงอาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทในทันที แต่อาจทำให้ระดับการจ่ายกระแสไฟฟ้าลดลง ซึ่งอาจทำให้บริษัทมีระดับความเสี่ยงในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของ RATCHGEN สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากรายได้ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าราชบุรี นอกจากนี้ ยังคาดว่าโรงไฟฟ้าย่อยต่างๆ จะยังคงดำรงความสามารถในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ต่อไป

ทริสเรทติ้งรายงานว่า RATCH ก่อตั้งในปี 2543 เพื่อซื้อโรงไฟฟ้าราชบุรีจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ เดือนกันยายน 2551 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ RATCH ประกอบด้วย กฟผ. ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 45% รองลงมาได้แก่กลุ่มบ้านปู (14.99%) และกองทุนประกันสังคม (4.92%) ปัจจุบันธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจำนวน 5 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 4,501 เมกะวัตต์ และมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 23,348 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551

RATCH ได้รับเงินปันผลสำหรับปี 2551 จำนวน 5,359 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่ดำเนินงานโดยบริษัทลูกคือ RATCHGEN และ TECO โดย RATCHGEN ยังคงเป็นผู้ส่งเงินปันผลรายสำคัญในสัดส่วน 84% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัท และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทถึง 93% ของรายได้จากเงินปันผลรวม

นอกจากนี้ บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL) ซึ่งดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนของ RATCH ก็เริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2551 โดยมีกำไรสุทธิตั้งแต่ปีแรกของการดำเนินงาน จึงคาดว่า RPCL จะสามารถจ่ายเงินปันผลประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปีให้แก่ RATCH ได้ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป บริษัทมีนโยบายการลงทุนที่ระมัดระวัง โดยการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าล้วนมีสัญญาขายไฟฟ้า (PPA) ระยะยาวกับ กฟผ. ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงทำให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต้องทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 ใหม่ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) เพื่อให้สะท้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง โดยมีการเลื่อนแผนการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนออกไปอีก 1 ปี และเลื่อนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวออกไปอีก 2 ปี

ทริสเรทติ้งกล่าวถึง RATCHGEN ว่าเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย RATCH บริษัทเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม ณ เดือนธันวาคม 2551 ที่ระดับ 3,645 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับ 12% ของกำลังการผลิตติดตั้งรวมของประเทศ กฟผ. มีสัญญาซื้อไฟฟ้า (PPA) ระยะ 25 ปีกับบริษัท ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีสัญญาขายก๊าซธรรมชาติ (GSA) ระยะ 25 ปีกับบริษัท

สำหรับผลการดำเนินงานของ RATCHGEN ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในโรงไฟฟ้าราชบุรียังคงดำเนินงานได้ดีกว่าเป้าหมาย โดยสามารถดำรงค่าความพร้อมจ่ายเฉลี่ยให้อยู่ที่ระดับ 89% และการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ระดับ 77% สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนซึ่งแม้จะสามารถดำรงค่าความพร้อมจ่ายให้อยู่ในระดับสูงที่ 92% แต่ระดับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2551 นั้นลดลงอยู่ที่ 52% เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้รับจาก ปตท. มีไม่เพียงพอ ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศลดลง

ในปี 2551 บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้า 42,183 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 5,489 ล้านบาท และมีอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (ไม่รวมส่วนเปลี่ยนแปลงของบัญชีเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้และเงินทุนหมุนเวียน) อยู่ที่ระดับ 2.0 เท่า ณ สิ้นปี 2551


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ