นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.บีฟิท(BSEC) คาดว่า บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(UOBKH) จะเข้ามาซื้อหุ้น BSEC จากบง.กรุงเทพธนาทร(BFIT) ทั้งหมดประมาณ 49% และหลังจากนั้นคงจะเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดจากรายย่อย(เทนเดอร์ออฟเฟอร์) เพื่อให้มีอำนาจเข้ามาบริหาร โดยคาดว่า UOBKH จะเข้ามาตรวจสอบสถานะบริษัท(Due Diligence)ประมาณ 3 เดือนก่อนที่จะสรุปราคาซื้อขายหุ้น
"คิดว่าดีลนี้น่าจะเสร็จภายใน 3 เดือน ของเราเข้ามาทำ Due Diligence ง่าย เพราะเราไม่มีหนี้เลย คิดว่าน่าจะเสร็จก่อนเดือนมิ.ย."นายประสิทธิ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ BFIT ถือหุ้นใหญ่ใน BSEC สัดส่วน 49.63% (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เม.ย.51)
นายประสิทธิ์ ยอมรับว่า ทาง UOBKH เคยติดต่อจะเข้าซื้อ BSEC ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็เงียบหายไป และเมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมาก็มีการทำดีล และออกข่าวโดยที่ตัวเองก็รู้กระทันหันเช่นเดียวกับพนักงานอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี นายประสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตุว่า การเข้ามาดำเนินการเข้าซื้อกิจการของ UOBKH ไม่ได้ปรากฎชื่อ หรือตัวตนว่าใครเป็นคนกลาง หรือที่ปรึกษาในการทำดีลนี้ โดยตั้งแต่เริ่มแรกที่มีข่าวออกมาหลังจาก 1 วัน ก็มีโทรสารมาจาก UOBKH ซึ่งส่งไปถึงนายวิษณุ เครืองาม ประธานคณะกรรมการบริษัท แจ้งเรื่อง Proposal Brokerage Integration/Merger จาก Mr. Wee Ee-Chao ตำแหน่ง Chairman เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 13.41 น. และกว่าบริษัทจะรับทราบเรื่องถัดไปอีก 1 ชั่วโมง
ทั้งที่ตามปกติของการทำดีลควบรวมกิจการหรือเข้าซื้อกิจการ ผู้ซื้อต้องแจ้งความจำนงทำ Due Diligence ก่อน และควรจะพูดคุยเป็นทางการกับทางผู้ถือหุ้นก่อน
"ดีลนี้มีข้อสงสัยหลายจุด ยังไม่รู้เลยว่าใครเป็นตัวกลาง ใครเป็น FA ในการทำดีล"นายประสิทธิ์ กล่าว
นายประสิทธิ์ ประเมินว่า แนวโน้มการควบรวมกิจการธุรกิจหลักทรัพย์จะมีให้เห็นเพิ่ม โดยเฉพาะโบรกเกอร์ขนาดเล็กที่มีส่วนแบ่งตลาด ต่ำกว่า 1% อยู่ยาก และด้วยสภาพของตลาด โดยปีนี้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยยังไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ด้านนายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย BSEC กล่าวว่า ยังมองไม่เห็นเหตุผลการเช้าซื้อของ UOBKH แต่ถ้าจะมองบนพื้นฐานที่มีอยู่ขณะนี้ว่า BSEC มีธุรกิจโบรกเกอร์ที่มีฐานลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่ง โดยมีส่วนแบ่งตลาดที่ 5-6% ขณะที่ ทาง UOBKH มีฐานลูกค้าต่างชาติค่อนข้างมาก โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 1%
แต่เท่าที่พิจารณาจากความเห็นส่วนตัว มองว่า การควบรวมกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ในไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดความร่วมมือหรือได้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง ได้แก่ กรณี บล.หยวนต้า กับ บล.กิมเอ็ง และ บล.เอเชีย กับ บล.แอสเส็ทพลัส รวมมาเป็น บล.เอเชียพลัส
"ผมไม่รู้ตรรกะที่เขาจะเข้ามาซื้อนะ แต่ที่ผ่านมาการควบรวมกิจการโบรกเกอร์ ไม่ได้เกิด synergy คือไม่ใช่ 1 บวก 1 แล้วเป็น 2 ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น"นายเอกพิทยา กล่าว
นอกจากนี้ ทาง BSEC ต้องหยุดการขยายธุรกิจโกลด์ ฟิวเจอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เจรจากับร้านค้าทองที่จะมีความร่วมมือในการเทรดโกลด์ ฟิวเจอร์ แต่ก็ต้องชะลอไว้ก่อนจนกว่าดีลนี้จะเสร็จ เพราะมองว่าธุรกิจโกลด์ ฟิวเจอร์น่าจะขยายตัวได้ดีในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน