OISHI อนุมัติลงทุนเพิ่มกำลังผลิต-บรรจุขวด PET 1.43 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 24, 2009 09:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ได้มีมติอนุมัติการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตและบรรจุเครื่องดื่มใส่ขวด PET แบบ Cold Aseptic Filling ของบริษัท โออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด (โออิชิเทรดดิ้ง) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2552 ซึ่งคาดว่าจัดในวันที่ 24 เมษายน 2552

ทั้งนี้ โออิชิ เทรดดิ้ง จะทำการก่อสร้างอาคารโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรผลิตและบรรจุเครื่องดื่มใส่ขวด PET แบบ Cold Aseptic Filling ภายในที่ดินของ โออิชิ เทรดดิ้ง ซึ่งติดกับที่ตั้งของโรงงานปัจจุบัน ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี โดยมีขั้นตอนดังนี้ มกราคม-เมษายน 2552 คัดเลือกผู้ผลิตเครื่องจักรต่างประเทศ ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, กุมภาพันธ์-ตุลาคม 2552 คัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง, เมษายน 2552 ลงนามในสัญญาซื้อเครื่องจักร ลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงงาน

ไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ. 2552 ก่อสร้างโรงงาน ระบบภายใน และ ระบบสาธารณูปโภค, ธันวาคม 2552-มกราคม 2553 ติดตั้งเครื่องจักร, กุมภาพันธ์ 2553 ทดสอบการผลิตและบรรจุขวด, มีนาคม- เมษายน 2553 ตรวจสอบกระบวนการผลิต, ไตรมาสที่ 3 ปี พ.ศ 2553 ผลิตเพื่อการพาณิชย์

โครงการลงทุนสำหรับรายการนี้มีมูลค่าประมาณ 1,430 ล้านบาท เป็นค่าเครื่องจักรผลิตและบรรจุเครื่องดื่มใส่ขวด PET แบบ Cold Aseptic Filling มูลค่าเครื่องจักรประมาณ 813 ล้านบาท การชำระเงินจะแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ ซึ่งจะต้องมีการตกลงกับผู้ขายต่อไป ซึ่งคาดว่างวดสุดท้ายจะจ่ายช่วงต้นปี 2553

อาคารโรงงาน ระบบภายใน ระบบสาธารณูปโภค อุปกรณ์ และ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นราคารับเหมาที่รวมสิ่งก่อสร้างกับค่าจ้างจ่ายให้ผู้รับเหมาหลายราย โออิชิเทรดดิ้งกำลังสรรหาผู้รับเหมาหลายรายที่เหมาะสมโดยปกติบริษัทฯจะชำระเงินตามส่วนของงานที่เสร็จ ซึ่งคาดว่างวดสุดท้ายจะจ่ายช่วงปลายปี 2552

แหล่งเงินทุนที่ใช้ โออิชิเทรดดิ้งจะใช้เงินสดคงเหลือและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากบริษัทแม่ บริษัทในเครือ และ สถาบันการเงิน

ผลประโยชน์ที่คาดว่าเกิดกับบริษัทจดทะเบียนจากผลของรายการนั้น เป็นการเพิ่มสายการผลิตแบบ Cold Aseptic Filling ซึ่งทำให้บริษัทสามารถผลิตเครื่องดื่มได้หลากหลาย มากขึ้น เช่นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม เดิมบริษัทไม่มีสายการผลิตสายนี้ ลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ได้เพราะใช้ขวด PET ที่ขนาดเบากว่า ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้เพราะใช้พลังงาน ในการผลิตน้อยกว่า ลดการสูญเสียจากการผลิตได้เพราะมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพกว่า อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ