นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) มองว่า ตลาดคาดการณ์ว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันพรุ่งนี้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์/พี)ลง 0.25-0.50% ซึ่งยังไม่แน่เสมอไปว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะสามารถกระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ได้มากนัก เพราะสิ่งที่สำคัญกว่า คือ มาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
ในส่วนของธนาคารเองคงต้องรอผลการประชุมของ กนง.ก่อน จึงจะประชุมคณะกรรมการธนาคารอีกทีเพื่อพิจารณาว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างไร แต่ผลลัพธ์ที่ได้ต้องตอบสนองลูกค้าและตอบสนองนโยบายภาครัฐไปพร้อมกัน เพราะขณะนี้ดอกเบี้ยทั้ง 2 ขาต่ำมาก
นอกจากนั้น มีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่จะต้องปรับลดลง หากดอกเบี้ยอาร์พียังลดลงต่อเนื่อง เพราะทำให้ yield ในตลาดติดลบ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นเมื่อใด
"ดอกเบี้ยเงินฝากประจำและออมทรัพย์ไม่แตกต่างกันปีนี้ แบงก์คงไม่เร่งเงินฝากโดยเฉพาะแคมเปญเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ เพราะทำให้ต้นทุนจ่ายดอกเบี้ยสูง ขณะเดียวกันแต่ละแบงก์มีสภาพคล่องส่วนเกินสูง เฉพาะ SCB ม.ค.อยู่ที่ 89-90%"นางกรรณิกา กล่าว
นางกรรณิกา ยังเห็นว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้(สเปรด)ในขณะนี้ไม่ได้ถือว่าห่างกันมากนัก เพราะจะต้องพิจารณาความเสี่ยงไปด้วย โดยขณะนี้ความเสี่ยงในช่วง 12 เดือนข้างหน้ายังมีสูง และมีค่าใช้จ่ายสูง
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศใช้ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ารัดกุมและช่วยได้มาก แต่สิ่งสำคัญคือ ความเชื่อมั่นที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ และความสงบสุขของบ้านเมือง เพราะตอนนี้คนมีเงินแต่ไม่ใช้ และในครึ่งปีแรก GDP น่าจะติดลบเพราะส่งออกขยายตัวไม่ดี สัญญาณหนี้ด้อยคุณภาพ(NPL)ของธนาคารปีนี้เร่งตัวขึ้นแน่ แม้ว่า ณ ขณะยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งธนาคารจะพยายามเข้าช่วยเหลือลูกค้า และควบคุม Gross NPL ให้เร่งตัวไม่เกิน 5.1%
นางกรรณิกา กล่าวว่า ธนาคารยังไม่มีการทบทวนเป้าหมายสินเชื่อในปีนี้ เพราะเป็นการตั้งเป้าภายใต้สมมติฐานที่ธนาคารคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง 1-2% และมองว่าเศรษฐกิจจะแย่ตั้งแต่ไตรมาส 4/51 และขณะนี้ยังไม่เห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่จะหันมากู้สถาบันการเงินในประเทศมากขึ้น หลังจากกู้เงินต่างประเทศยาก แต่ก็เห็นการระดมเงินผ่านการออกหุ้นกู้มากขึ้นบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าบริษัทขนาดใหญ่คงจะต้องเข้ามากู้เงินแน่นอน เพราะจะต้องมีการเฉลี่ยพอร์ตการระดมทุนเพื่อควบคุมต้นทุนและกระจายความเสี่ยง
สำหรับสินเชื่อของธนาคารในเดือนก.พ.52 เร่งตัวสูงขึ้นเทียบกับเดือนม.ค.52 ในทุกประเภทสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม SCB จะมีการทบทวนแผนงานทุกเดือน และดูภาพใหญ่ทุก 6 เดือน นอกจากนั้น ยิ่งเศรษฐกิจติดลบจะมีการทบทวนถี่ขึ้นทุกสัปดาห์ และคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งจะดูทั้งรายเล็กและรายใหญ่