บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานของบริษัทในตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ระดับปานกลางถึงต่ำ ความสามารถในการควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง และเงินกู้ที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบันซึ่งจะส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ซบเซา รวมทั้งวงจรธุรกิจที่มีความผันผวน และนโยบายของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อบ้านกู้เงินได้ยากขึ้น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถดำรงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำเอาไว้ได้แม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ด้วยฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและความได้เปรียบในด้านต้นทุนจึงคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้แม้จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคตและจะมีการลดอัตราส่วนกำไรลงเพื่อกระตุ้นยอดขายก็ตาม
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทมั่นคงเคหะการเป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางซึ่งมีประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 30 ปี บริษัทก่อตั้งในปี 2516 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2533 กลุ่มตระกูลตั้งมติธรรมยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทโดย ณ เดือนธันวาคม 2551 มีสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 26% บริษัทเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรแนวราบในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยระดับราคาเฉลี่ยของบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดอยู่ที่หลังละประมาณ 3.5 ล้านบาท และที่ดินเปล่าตารางวาละประมาณ 15,000-50,000 บาท รายได้ของบริษัทในช่วงปี 2548 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2551 มาจากการขายบ้านมากกว่า 70% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากการขายที่ดินเปล่าคิดเป็นประมาณ 13% ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากความสามารถในการบริหารต้นทุนการก่อสร้างซึ่งทำให้บริษัทมีอัตรากำไรในระดับที่ดี
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า รายได้ของบริษัทมั่นคงเคหะการในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้น 9% เป็น 1,417 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาษีของภาครัฐเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 ดีขึ้น โดยบริษัทมีอัตราส่วนกำไรที่ 27.28% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 24.59% ในช่วงปี 2549-2550 นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และการลงทุนที่ต่ำในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ก็ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องที่ดี โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 20.60% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) จาก 18.11% ในปี 2550 ด้วยวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 800 ล้านบาทและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับต่ำที่ 27.36% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ทำให้บริษัทยังคงมีความคล่องตัวในการจัดหาแหล่งเงินทุน
ตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนอันเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและวิกฤติการเงินโลก แม้ในช่วงกลางปี 2551 อุปสงค์ที่อยู่อาศัยจะกระเตื้องขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่บังคับใช้ในช่วงต้นปี แต่ในช่วงปลายปีก็หดตัวลงเนื่องจากปัจจัยลบหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อตลาดพร้อมๆ กัน ปัจจุบัน แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจะยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับที่อยู่อาศัยต่อไป
นอกจากนี้ การที่ธนาคารหลายแห่งเริ่มมีนโยบายที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวก็ยิ่งเป็นการจำกัดความสามารถในการกู้ยืมของผู้ซื้อบ้าน แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดจะช่วยให้ผู้ซื้อบ้านสามารถนำเงินซื้อบ้านในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะปรับตัวลดลงประมาณ 10%-20% ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 0%-2% หรืออาจหดตัวในปี 2552 ดังนั้นผู้ประกอบการควรต้องบริหารสภาพคล่องอย่างระมัดระวังและดำรงความยืดหยุ่นให้เพียงพอต่อภาระผูกพันต่างๆ ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ทริสเรทติ้งกล่าว