(เพิ่มเติม) สบน.ศึกษาตั้ง Islamic Fundใน 1 เดือนหวังใช้ส่วนหนึ่งช่วยสภาพคล่องTHAI

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 25, 2009 13:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการระดมทุนตามหลักศาสนาอิสลามที่จัดตั้งโดยนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้เรียกประชุมนัดแรกเพื่อวางแนวทางการระดมเงินให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะเพื่อรองรับการระดมทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่(เมกะโปรเจ็คต์)

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะศึกษาปัญหาและอุปสรรคในทุกรูปแบบ ทั้งด้านกฎหมาย ระบบภาษี และด้านอื่นๆ ซึ่งจะมีข้อสรุปภายใน 1 เดือน ก่อนเสนอ รมว.คลังพิจารณาต่อไป

ผ.อ.สบน.กล่าวว่า Islamic Fund นอกจากจะรองรับการระดมทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์แล้ว ยังอาจไว้ใช้สำหรับเสริมสภาพคล่องให้แก่ บมจ.การบินไทย(THAI) ที่ขณะนี้มีปัญหาสภาพคล่องอยู่ด้วย

"โครงการของ TG อาจจะมีในเรื่องของกระแสเงินสด เรื่องของทรัพย์สินต่างๆ ที่มีความชัดเจน ซึ่งพร้อมจะนำไปใช้รองรับการออกอิสลามมิกบอนด์ เพื่อเสนอขายให้ผู้ลงทุนในตะวันออกกลาง ขณะที่โครงการเมกะโปรเจ็คต์อื่นๆ ที่มีรูปแบบการลงทุนแบบ PPP(การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน:Public-Private Partnership) รัฐบาลจะการันตีรายได้ต่างๆ อยู่แล้ว" นายพงษ์ภาณุ ระบุ

ผอ.สบน. กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังมีความสนใจประเทศแถบตะวันออกกลาง เนื่องจากมีสภาพคล่องอยู่มาก ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกน้อยมาก และการระดมเงินทุนจากประเทศกลุ่มนี้จะมีต้นทุนต่ำกว่าประเทศตะวันตกราว 0.25-0.50% ขณะที่บางประเทศยังเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย

เบื้องต้น ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)จะระดมเงินเพิ่มทุน เป็น Tear2 Capital โดยการออกพันธบัตรตามหลักศาสนาอิสลามวงเงิน 2,000 ล้านบาท ขายในตลาดมาเลเซีย เป็นโครงการนำร่อง และศึกษาควบคู่ไปกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เกี่ยวกับแนวทางการระดมเงินตามหลักศาสนามอิสลาม เพือวางแนวทางแก้ไข

ทั้งนี้ รูปแบบที่จะนำมาใช้ในการะดมเงิน ตามแนวทาง Islamic Fund ประกอบด้วย การตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ(SPV)ตามกฎหมาย ซึ่งส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี การตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์(Property Fund)และการตั้งทรัสต์ ตาม พ.ร.บ.ทรัสต์ เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน ซึ่งขณะนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างเตรียมการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแนวทางของ Islamic Fund จะแตกต่างจากการระดมเงินทั่วไป เนื่องจากตามหลักศาสนาอิสลามจะไม่สามารถให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย แต่จะเป็นในรูปแบบของรายได้ค่าเช่าหรือผลตอบแทนอื่นๆ ดังนั้น จึงต้องมีการวางโครงสร้างการระดมเงินให้สอดคล้องกับหลักศาสนา ดังนั้น จึงอาจจะมีเรื่องของการโอนทรัพย์สินต่างๆ มาเกี่ยวข้องมากขึ้น

"การระดมทุนครั้งนี้ อาจจะมีปัญหาอุปสรรค เช่นต้องมีทรัพย์สิน หรือรายได้ต่างๆมาหนุนหลังในการออกพันธบัตร ดังนั้น ในการโอนทรัพย์สินต่าง ๆ ก็ต้องเสียภาษี และเมื่อโอนทรัพย์สินคืน ก็ต้องเสียภาษี และอาจมี Capital gain ด้วย ดังนั้น กำลังดูว่า เรื่องของภาษีจะเป็นอย่างไร แต่ยืนยันว่าระบบภาษีต้องเป็นธรรม ไม่มีการให้สิทธิประโยชน์" นายพงษ์ภาณุ กล่าว

ด้านนายธีระศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทบาท ของ ธอท. จะเป็นทั้ง ที่ปรึกษาทางการเงิน ในการระดมทุนในรูปแบบนี้ เนื่องจากธนาคาร ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกรรมตามหลักศาสนาอิสลาม อีกบทบาทคือการเป็น Aranger จัดหานักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ