บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH)ปรับแผนลงทุนให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง และแผนการพัฒนาไฟฟ้า(PDP)ต้องมีการปรับลดตามไปด้วย ส่งผลให้แผนการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ในโครงการหงสาลิกไนต์และโครงการน้ำงึม 3 ในลาวต้องชะลอออกไป ทำให้บริษัทหันมาศึกษาลงทุนในเหมืองถ่านหินเป็นครั้งแรก เล็งเหมืองในอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน อาจเข้าซื้อ หรือ เทกโอเวอร์ หรือ ร่วมทุน โรงไฟฟ้าในอาเซียน
RATCH ระบุว่าการปรับแผนลงทุนในลักษณะนี้ เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของทั้งรายได้และกำไร จึงมั่นใจว่าในช่วงปี 52-53 รายได้ของบริษัทจะเข้ามาสม่ำเสมอที่ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ แม้ปีนี้คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนจากที่บริษัทต้องเสียภาษีเพิ่ม แต่เชื่อหลังบริษัทรีไฟแนนซ์หนี้ 2.7 หมื่นล้านบาทได้จะทำให้กำไรสุทธิลดลงจากปีก่อนไม่มาก
*ปรับแผนลงทุนเน้นยืดหยุ่นตามศก.
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการ RATCH เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ ในลักษณะเข้าซื้อกิจการ ร่วมทุน หาพันธมิตร หรือเข้าซื้อกิจการ ทั้งในส่วนโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน เนื่องจากแผน PDP มีแนวโน้มปรับลดความต้องการใช้ไฟฟ้าลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่คาดว่าสามารถจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในราวเดือน มี.ค.นี้
จากการที่แผน PDP ปรับลดลงส่งผลให้โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ของบริษัทบางส่วนที่ทยอยลงทุนไปแล้วอาจล่าช้ากว่าแผนการเดิม อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 3 จากเดิมที่คาดว่าจะเสร็จประมาณปี 55-56 รวมทั้ทั้งโครงการหงสา ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันที่ชะลอการลงทุนออกไป
"จากสภาวะความไม่แน่นอนสูงทั้งปัญหาด้านนโยบายภาครัฐบาล เศรษฐกิจ เราต้องยืดหยุ่นแผนการใช้เงิน ไม่มีการกำหนดตายตัว โดยเบื้องต้นปีนี้คาดว่าจะใช้ 4.5 พันล้าน แต่ที่ใช้แน่ๆ น้ำงึม 2 ที่เหลือเก็บไว้ลงทุนเพราะได้ไปดูเหมืองถ่านหินในกลิมันตัน สุมาตรา หากมีความคืบหน้าในการเจรจาได้ก็มีโอกาสใช้ลงทุนในส่วนนี้"นายนพพล กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 52 บริษัทได้ตั้งงบลงทุนไว้ 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ได้กันเงินไว้สำหรับโครงการเดิม 4 แห่งประมาณ 1.5 พันล้านบาท ได้แก่ โครงการน้ำงึม 2 ซึ่งก่อสร้างคืบหน้าไป 70% และลงทุนต่อเนื่อง, โครงการน้ำงึม 3 , โครงการหงสา และ โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ส่วนที่เหลือจะเก็บไปใช้ในโครงการใหม่ รวมทั้งโครงการพลังงานทดแทน
"แผนการลงทุนของเรา เน้นความยืดหยุ่นปรับได้ตลอดเวลาตามโอกาสการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต" กรรมการผู้จัดการ RATC กล่าว
แหล่งเงินทุนไม่เป็นปัญหาสำหรับบริษัท ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสะสมถึง 2.3 หมื่นล้านบาท ที่พร้อมลงทุน นอกจากนี้ยังมีวงเงินที่ขออนุมัติการออกหุ้นกู้กับผู้ถือหุ้นที่มีอีก 7.5 พันล้านบาท รวมทั้งสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้อีกด้วย
*บุกลงทุนถ่านหินครั้งแรก-โรงไฟฟ้าเพิ่ม
นายนพพล กล่าวว่า บริษัทมีแผนเข้าลงทุนในรูปแบบการเข้าเทคโอเวอร์ หรือการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับธุรกิจเชื้อเพลิง โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปศึกษาการลงทุนในเหมืองถ่านหินในประเทศ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย โดยในส่วนโรงไฟฟ้า ได้มองไว้ที่เวียดนาม และอินโดนีเซียไว้
หากตกลงเจรจากับผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆได้จะทำให้ RATCH เข้าสู่ธุรกิจถ่านหินเป็นครั้งแรก และยังมองหาโอกาสการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยเน้นประเทศแถบภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้บางส่วนเพื่อช่วยเสริมรายได้ในปี 53 ที่ยังไม่ม่มีโครงการใหม่เข้ามา
"เราก็คาดว่ามีโอกาสที่จะเห็นการลงทุนในปีนี้ได้" นายนพพพลกล่าว
*เดินหน้าพลังงานทดแทน
บริษัทเพิ่งลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังลม ที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นบริษัท ซัสเทนเอเบิล เอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด สัดส่วน 26% ซึ่งมีขนาด 60 เมกกะวัตต์ ถือว่าเป็นโครงการพลังงานลมใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตั้งอยู่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและรับรู้รายได้ในช่วงกลางปี 54 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาค่าไฟกับทางการไฟฟ้าฝายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปี 52
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวใช้วงเงินลงทุน 4.3 พันล้านบาท ถือว่ามีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่โครงการนี้ ได้รับอุดหนุนจากภาครัฐจากส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า 3.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นสิ่งจูงใจให้บริษัทเข้ามาดำเนินโครงการ และคาดว่าโครงการนี้ให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน(IRR)สูงกว่า 10% โดยโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาโปรเจ็คต์ไฟแนนซ์จากธนาคาร เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินทุน 30-35% และกู้จากสถาบันการเงิน 65-70%
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ประดู่เฒ่า โดยใช้ Flare Gas หรือเชื้อเพลิงที่เหลือจากการทำอุตสาหกรรมมาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเดิมผลิตได้ 1.75 เมกกะวัตต์ รวมทั้งยังมีแนวคิดทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วย
*มั่นใจรายได้สม่ำเสมอในปี 52-53 แม้ไม่มีโครงการใหม่
นายนพพล กล่าวว่า ในปี 52-53 แม้ว่ายังไม่มีโครงการใหม่เข้ามา แต่เชื่อว่างบริษัทยังคงมีรายได้เข้ามาแน่นอนประมาณ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะมีการปิดซ่อมบำรุงมากแค่ไหนก็ตาม เพราะบริษัทมีสัญญาค่าไฟฟ้ากับ กฟผ.และบริษัทยังเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันตามปกติ
นอกจากนี้ โครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จในปลายปี 53 คือโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม ซึ่งส่งผลต่อรายได้ในปี 54 เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้เต็มปี ซึ่งจะทำให้รายได้ปรับตัวสูงขึ้น
แต่ในด้านกำไรสุทธิปี 52 จะต่ำกว่าปีก่อนที่มีกำไร 6.49 พันล้านบาท เนื่องจากปีนี้บริษัทจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และคงมีผลกระทบจากเรื่องค่าเงินบาทอ่อน คาดว่าปีนี้จะมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนแต่จำนวนไม่มาก เพราะหนี้สกุลดอลลาร์ไม่สูง จากหนี้สินรวม 2.07 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนจะรีไฟแนนซ์หนี้ในบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 52 ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ทำให้กำไรปีนี้ดีกว่าเดิมที่คาดว่าจะดลลงประมาณ 5% ทั้งนี้ หลังรีไฟแนนซ์หนี้คาดว่าหนี้สินในสิ้นปีนี้จะเหลือประมาณ1.9 หมื่นล้านบาท
อนึ่ง นายนพพล มิลินทางกูร เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผุ้จัดการ RATCH ได้เข้ามาสานต่องานโดยได้รับการเลือกจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กฟผ.ถือว่าเป็นผู้คลุกคลีกับงานวิศวกรรมวางระบบไฟฟ้าให้กับ กฟผ.มากว่า 30 ปี แต่การเข้ามาทำงานที่ RATCH ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยต้องเร่งหาแหล่งรายได้เพื่อมาเสริมแหล่งรายได้เดิมจากโรงไฟฟ้า 8 แห่ง ทั้งถือหุ้น 100% และร่วมถือหุ้น โดยปัจจุบัน RATCH มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 4,300 เมกกะวัตต์