PTTARคาดปี 52 พลิกเป็นกำไร จากรายได้เพิ่ม-ไม่ขาดทุนสต็อก-มาร์จิ้น ฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 27, 2009 08:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) คาดว่าปี 52 จะพลิกเป็นกำไรได้จากปี 51ที่ขาดทุน 8.5 พันลบ.และ EBITDA ก็กลับมาเป็นบวก เพราะคาดว่าปีนี้จะไม่มีผลขาดทุนสต็อกน้ำมัน และมาร์จิ้นเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์(ทั้งธุรกิจน้ำมันและอะโรเมติกส์) จะอยู่ที่ประมาณ 4.5 เหรียญ/บาร์เรล ดีกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 3.4 เหรียญ/บาร์เรล(ยังไม่รวมขาดทุนสต็อกน้ำมัน)

ประกอบกับบริษัทได้เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์โรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2(AR3)ใน ก.พ.นี้ ทำให้กำลังการผลิตอะโรเมติกส์เพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็น 2.2 ล้านตัน จาก 1.1 ล้านตัน และกำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 1.9 แสนบาร์เรล/วัน จาก 1.45 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ 1.20 เหรียญ/บาร์เรล จากการเชื่อมต่อโรงงานทั้ง 3 แห่งเข้าด้วยกัน หลังยกเลิกความร่วมมือการกลั่นร่วมกับ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

"ปีนี้ผมมองว่า ไม่น่าจะมี stock loss ซึ่งถ้าราคาน้ำมันเป็นอย่างนี้ซึ่งวันนี้ก็อุ่นใจ และปีนี้มาร์จิ้นเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์น่าจะอยู่ที่ 4.5 เหรียญต่อบาร์เรล ...ตามแผนเราเชื่อว่า เราควรจะมีกำไร" นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTAR กล่าว

บริษัทคาดว่าราคาน้ำมันในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 50-55 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจะมีค่าการกลั่นประมาณ 5.50-6.00 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์ที่บริษัทมีสินค้าหลัก คือ พาราไซลีน ส่วนต่างระหว่างผลิตภัณฑ์กับคอนเดนเสท (สเปรด) เฉลี่ยทั้งปีที่ 300 กว่าเหรียญ/ตัน ส่วนเบนซีนเฉลี่ยทั้งปีคาดสเปรดไว้ที่ 120 เหรียญ/ตัน ซึ่งสเปรดทั้งสองผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกับปีก่อน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้สเปรดของพาราไซลีนปรับขึ้นไป 500 กว่าเหรียญ/ตัน ดีกว่าไตรมาส 4/51 เพราะได้ราคาขายดี ที่ประมาณ 900 เหรียญ/ตัน จาก 600 เหรียญ/ตันในไตรมาส 4/51 จากความต้องการในประเทศยังมีอยู่ หลังจากที่สต็อกของลูกค้าเริ่มหมด เนื่องจากไตรมาส 4/51 ลูกค้าได้ชะลอการซื้อไว้ โดยบริษัทเตรียมทำสัญญาซื้อขายยาว 1 ปีกับลูกค้า เช่น ทุนเท็กซ์ เป็นต้น

อนึ่ง พาราไซลีนนำเป็นส่วนประกอบการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ และ ขวด PET เป็นต้น

ขณะที่ ราคาเบนซีนไม่ดีเพราะความต้องการลดลง โดยขณะนี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 380 เหรียญ/ตัน เนื่องจากเบนซีนนำไปเป็นส่วนประกอบการผลิตชื้นส่วนรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้โรงงานหลายแห่งหยุดการผลิต บริษัทจึงมีแผนลดกำลังการผลิตเบนซีนลงประมาณ 10-20% หรือประมาณ 1 แสนตัน เป็นกำลังการผลิต 7 แสนตันต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีนี้จะส่งออกเพิ่มราว 15-20% จาก 15% ในปีก่อน เพราะดีมานด์ในประเทศน้อยลง

ส่วนน้ำมันในส่วนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ บริษัทสัญญาซื้อขายกับ บมจ.ปตท(PTT) โดยจะรับซื้อ 70% ของกำลังการผลิตใช้ราคาในประเทศ ส่วนที่เหลือจะแบ่งเป็นครึ่งหนึ่งใช้ราคาในประเทศ อีกครึ่งหนึ่งใช้ราคาส่งออกซึ่งต่ำกว่าราคาในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยง (Headging) ประมาณ 20%ของกำลังการผลิตแต่ละผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นระดับปกติ จากปีก่อนที่ทำ Headging ไว้ถึง 40% เพราะราคาขึ้นไปสูง

นอกจากนี้ หลังจากยกเลิกสัญญาการกลั่นร่วมกับ SPRC แล้ว บริษัทได้ทำการเชื่อมต่อโรงงานทั้ง 3 แห่ง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ราว 1.20 เหรียญ/บาร์เรล หากรวมดอกเบี้ยต้นทุนจะลดลงราว 2 เหรียญ/บาร์เรล

นายชายน้อย กล่าวว่า บริษัทมองหาโอกาสออกหุ้นกู้จำนวน 7.5 พันล้านบาทในปีนี้ ขึ้นอยู่กับจังหวะตลาด เพื่อนำไปปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นที่มีอยู่ประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท ให้เป็นหนี้ระยะยาว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทยังมีสภาพคล่อง โดยยังมีวงเงินการออกตั๋วเงิน(B/E)ที่ได้ขยายเป็น 2 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้ใช้ไปเพียงกว่า 6 พันล้านบาท ส่วนหนี้ระยะยาวมีอยู่ราว 5.4 หมื่นล้านบาทอายุเฉลี่ย 7 ปี ต้นทนุดอกเบี้ยที่ 4.5% ต่อปี

*คาด มี.ค.รู้ผลเลื่อนผลิตน้ำมันตาม Euro4

นายชายน้อย กล่าวว่า ในปีนี้จะไม่ลงทุนในโครงการใหญ่ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่หากต้องลงทุนการผลิตน้ำมันตามมาตรฐาน Euro 4 ในปีนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 30 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มโรงกลั่นได้ขอให้ทางกระทรวงพลังงานเลื่อนการใช้มาตรการตาม Euro4 ออกไปก่อน 1-2 ปี และทางค่ายรถยนต์ก็เห็นตรงกัน เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี อุตสาหกรรมรถยนต์ก็ชะลอตัว การผลิตรถยนต์ตามมาตรฐาน Euro 4 จะเลื่อนออกไปด้วย จากที่กำหนดไว้ที่จะใช้มาตรฐาน Euro4 ใน 2 ม.ค.55

"ถ้าเราชะลอ ออกไป 1-2 ปี ค่าก่อสร้างจะลดลง ซึ่งตอนนี้เราเจรจากับผู้รับเหมาอยู่ เราขอให้ทางกระทรวง(พลังงาน) ตัดสินใจภายในเดือนหน้า(มี.ค.) เพราะหากไม่เลื่อนเราจะได้เริ่มลงทุนได้ทัน" นายชายน้อยกล่าว

ทั้งนี้ หากต้องลงทุนโรงงานผลิตน้ำมันตามมาตรฐาน Euro4 ทั้งธุรกิจโรงกลั่นที่ยังมี 4 โรงที่ยังไม่ทำ จะต้องใช้เงินลงทุนรวม 1.5-2 พันล้านเหรียญ

นายชายน้อย คาดว่า ในปี 52 ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศจะลดลงประมาณ 6 แสน-1.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากปี 51 ที่มีความต้องการใช้ 7.7 ล้านบาร์เรล /วัน และคาดว่าค่าการกลั่นในธูรกิจโรงกลั่นจะลดลงเหลือเฉลี่ยกว่า 5 เหรียญ/บาร์เรลจากปีก่อนที่อยู่ระดับกว่า 6 เหรียญ/บาร์เรล จากความต้องการใช้ยุโรป สหรัฐลดลง แต่ในเอเชียแปซิฟิก และ จีน ก็ยังมีการเติบโตการใช้น้ำมัน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ