นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ คาดว่า ในการประเมินเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 52 ของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ครั้งใหม่ในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้ น่าจะมีการปรับลดเป้าหมายดัชนีลงราว 5-10%จากเป้าหมายเดิมที่ 547 จุด และมีโอกาสลดลงแตะระดับ 360-380 จุด เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในไตรมาส 4/51 ออกมาติดลบ และบริษัทจดทะเบียน(บจ.)มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลในงวดปี 51 ลดลง ซึ่งคงจะมีผลต่อราคาหุ้นของบริษัทปรับลดลงตามไปด้วย
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยช่วงรอยต่อไตรมาส 1/52 และ 2/52 อาจจะเลวร้าย จากปัจจัยที่เข้ามากระทบทั้งภายในและภายนอก ซึ่งภายในอาจจะเห็น GDP ไตรมาส 1/52 ติดลบมากถึง 6% เนื่องจากตัวเลขส่งออกเดือน ม.ค.ที่หดตัว 26% รวมถึงวิกฤติสถาบันการเงินในต่างประเทศคงจะยืดเยื่อ จึงทำให้มองว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวดัชนีจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 360-380 จุด ได้
"ผมอยากให้มองยาวๆ เพราะแม้ภาพเศรษฐกิจอาจจะดีขึ้นได้บ้างจากการกระตุ้นเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐ แต่ภายใต้ในนั้นก็ยังมีความเสี่ยงอยู่และการที่จะหวีงเห็นตัวเลขการเข้ามาของนักลงทุนต่างประเทศคงหวังไม่ได้ในครึ่งแรกอย่างแน่นอน และผลการดำเนินงานในกลุ่มใหญ่ๆ อย่างพลีงงานและธนาคารก็ปรับลดลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่กดดัน" นายสุกิจ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยของบริษัทได้ประเมิน EPS ของ บจ.ปี 52 คาดว่าจะติดลบ 5-10% โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นกลึ่มนำตลาด แต่มองว่า EPS จะกลับมาดีขึ้นในช่วงปี 53 โดยพลิกมาเป็นบวก 10% ซึ่งก็จะสอดคล้องกับการปันผลของ บจ.งวดปี 53 ก็จะกลับมาดีขึ้นจากปีนี้ที่เห็นบางบริษัทจ่ายปันผลได้แต่เป็นอัตราที่ลดลง และบางบริษัทต้องการเก็บเงินสดไว้เพื่อรองรับสภาพคล่อง โดยกลุ่มที่จะยังจ่ายปันผลได้สูง เช่น ADVANC, GRAMMY ,BEC ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์(PROP) เชื่อว่ามีปันผลได้ แต่ไม่มาก เช่น SPALI, PS ,QH
ด้านนายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาด บล.ธนชาต กล่าวว่า การที่จะพิจารณาความสามารถในการจ่ายปันผลของ บจ.นั้นควรที่จะมองราคาหุ้นและการรับรู้รายได้จากบริษัทนั้นด้วยว่าเป็นรายได้จากการดำเนินงานหรือรายการพิเศษเข้ามา เช่น ปิโตรเคมี และเดินเรือที่ปันผลดีเพราะปีที่แล้วมีรายการพิเศษเข้ามา จึงควรจะดูการเติบโตไปข้างหน้าของบริษีทเป็นหลักมากกว่า