นายกรณ์ จาติกณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยนัดแรกวางคอนเส็ปต์"BIG BANG" ยกระดับตลาดทุนไทย 7 ด้าน เพื่อปฏิรูปตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม เชื่อมโยงตลาดทุนกับประชาชนและการลงทุนในทุกภาคส่วน โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการร่างแผนขึ้นมาดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในกลางปีนี้
กรอบการปฏิรูป 7 ด้าน ได้แก่ ยกระดับประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อเปิดทางให้มีการแข่งขันภายใต้โครงสร้างที่เป็นประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย, การเปิดเสรีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน, การปฏิรูปโครงสร้างการกำกับดูแลตลาดทุน, การปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, การปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่มีความเหลื่อมล้ำ, การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และ การพัฒนาตลาดตราสารหนี้
ส่วนการจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภคนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้เสนอโครงสร้างเบื้องต้นมาให้พิจารณาแล้วเพื่อจัดทำโครงการต้นแบบ โดยอาจนำแนวคิดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(PPP)มาใช้ ซึ่งจะต้องพิจารณาในเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เกิดความรอบคอบ ได้แก่ โครงการทางด่วนสายต่างๆ ซึ่งจะทำซิเคียวริไทเซชั่น เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ในต้นเดือน พ.ค.นี้ น่าจะมีข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภค โดยขณะนี้ มีแนวคิดการจัดทำโครงการนำร่องแล้ว โดยเป็นโครงการลงทุนที่มีแนวโน้มก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มมีรายได้เข้ามาแล้ว ซึ่งเห็นว่าการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะนำไปสู่การเพิ่มสินค้าใหม่ในตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น
"เมื่อปี ค.ศ.1985 ผมทำงานที่อังกฤษ และปี 1986 อังกฤษมี BIG BANG ปฎิรูปตลาดทุนครั้งใหญ่ และสามารถผลักดันตัวเองให้เป็นตลาดหุ้นชั้นนำของโลกได้ แต่การปฎิรูปก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง มีการควบรวม ปรับวิธีการทำงาน แต่สุดท้ายเพื่อให้ตลาดทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการระดมทุนในต้นทุนถูกลง ของเราก็ต้องการให้เป็นแบบนี้" รมว.คลัง กล่าว
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง สำรวจทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อนำมาพิจารณาสร้างรายได้ เกิดประโยชน์ให้คุ้มค่า ทั้งในส่วนที่ราชพัสดุ 12 ล้านไร่ ทรัพย์สินที่คลังถือหุ้นอยู่ หรืออื่นๆ ซึ่งเห็นว่าหากมีการประเมินสำรวจทรัพย์สินทั้งหมด และศึกษาถึงการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรให้คุ้มค่า และเพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็น่าจะช่วยเพิ่มเครดิตของประเทศให้มากขึ้นอีก
"ทรัพย์สินบางส่วนอาจมาจากความจำเป็นช่วงกอบกู้วิกฤติ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยทบทวนว่าจะคงหุ้นนี้ไว้หรือไม่ เชื่อว่ายังมีทรัพยากรอยู่มาก แต่ยังไม่ชัดเจน ไม่มีการทำบัญชีของประเทศไว้ ซึ่งเชื่อว่ามูลค่าจะมีมากกว่าที่คำนวณไว้ โจทย์คือต้องการดูข้อเท็จจริงก่อนจะประเมินว่าจะทำอย่างไรก็ทรัพย์สินพวกนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ความคุ้มค่านี้ได้" รมว.คลัง กล่าว