ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปีเมื่อคืนนี้ (2 มี.ค.) หลังจากบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ ของอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) เปิดเผยตัวเลขขาดทุนไตรมาส 4 เป็นวงเงินสูงถึง 6.17 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคการเงินและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ฉุดดาวโจนส์ดิ่งหลุดจากระดับ 7,000 จุด
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วง 299.64 จุด หรือ 4.24% แตะที่ 6,763.29 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปีหรือนับตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.ปีพ.ศ.2540 ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 34.27 จุด หรือ 4.66% แตะที่ 700.82 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดร่วง 54.99 จุด หรือ 3.99% แตะที่ 1,322.85 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.98 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 15 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.31 พันล้านหุ้น
บิล สตราสซุลโล นักวิเคราะห์จากเบลล์ เคิร์ฟ เทรดดิ้ง กล่าวว่า ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กผันผวนอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเช้า เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคการเงิน โดยเฉพาะข่าวที่ว่ารัฐบาลสหรัฐเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นในซิตี้กรุ๊ป และล่าสุดคือข่าวการขาดทุดของอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินรอบใหม่
เอไอจีรายงานการขาดทุน 6.17 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งเป็นตัวเลขขาดทุนสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผลประกอบการตลอดทั้งปี 2551 เอไอจีขาดทุนสุทธิ 9.93 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งการรายงานผลประกอบการของเอไอจีมีขึ้นในขณะเดียวกับที่กระทรวงการคลังสหรัฐ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ระบุว่า เอไอจี จะได้รับการอัดฉีดเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ที่รัฐบาลยื่นมือเข้ามาพยุงบริษัทให้รอดพ้นจากวิกฤติ เนื่องจากเกรงว่า เอไอจีอาจสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินทั้งระบบได้
ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สรายงานว่า ธนาคาร HSBC อาจต้องระดมทุนเป็นวงเงินสูงถึง 1.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตัวเลขเงินกู้หนี้สูญที่พุ่งสูงขึ้นในสหรัฐได้ส่งผลให้รายได้ของธนาคารทรุดตัวลงด้วย โดยการระดมทุนครั้งนี้จะดำเนินการผ่านทางการออกหุ้นบุริมสิทธิ์ นอกจากนี้ HSBC ยังวางแผนที่จะปลดพนักงาน 6,100 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากการที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าของบริษัทเบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ อิงค์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ จะตกอยู่ในภาวะ "ระส่ำระสาย" ตลอดทั้งปีนี้ เนื่องจากสถาบันการเงินขาดทุนอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยเงินกู้แบบขาดวินัยในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู
การแสดงความคิดเห็นของบัฟเฟตต์มีขึ้นหลังจากกระทรวพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวลง 6.2%ต่อปี ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวรุนแรงสุดในรอบ 27 ปี และมากกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้นว่าจะหดตัวเพียง 3.8% เนื่องจากการทรุดตัวลงของยอดส่งออก, ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค และการลงทุนในภาคเอกชน
จิม เบรด หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัท แพลน มอแรน ไฟแนนเชียล แอดไวซอรีส์ คาดการณ์ว่า "ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะดิ่งลงหนักขึ้น นอกเสียจากว่ารัฐบาลสหรัฐจะหาทางฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค เพราะปัจจุบันผู้บริโภคและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นแม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม
ผลสำรวจความคิดเห็นซึ่งจัดทำโดยสมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐ (NABE) บ่งชี้ว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่ามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพิ่งลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อไม่นานมานี้นั้น จะช่วยยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เพียงปานกลางเท่านั้น